⇑ บุคคลสำคัญ

นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ สมรักษ์ เกิดเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ที่หมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านแฮด) ครอบครัวยากจน เป็นบุตรคนกลาง ในจำนวน 3 คน ของ นายแดงและนางประยูร คำสิงห์ มีชื่อเล่นว่า “บาส” มีพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยด้วยเหมือนกัน คือ สมรถ คำสิงห์ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “รถ” นอกจากนี้บิดาก็เป็นนักมวยเก่าด้วยเช่นกัน สมรักษ์เข้าเรียนครั้งแรกที่ โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาโนนสมบูรณ์ เขาได้รับการฝึก การชกมวยไทยตั้งแต่เด็ก ขึ้นชกครั้งแรกขณะอายุ 7 ปี และได้ตระเวนชกตามเวทีงานวัดต่าง ๆ และได้รับการทาบทามจาก ณรงค์ กองณรงค์ หัวหน้าคณะณรงค์ยิมให้มาร่วมค่าย สมรักษ์จึงขอขึ้นชกมวยไทยในชื่อ สมรักษ์ ณรงค์ยิม และกลายเป็นนักมวยมีชื่อในแถบจังหวัดขอนแก่น ต่อมา ณรงค์กับนายแดง ซึ่งเป็นพ่อของสมรักษ์เกิดบาดหมางกัน สมรักษ์จึงย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ และเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ โดยได้ไปเรียนที่ โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา เขาได้ชกทั้งมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ขึ้นชกมวยไทยในชื่อ “พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ” แต่พอสมรักษ์ขึ้น ม.2 พ่อก็ถึงแก่กรรม จากนั้น สมรักษ์ก็ได้ตระเวนชกตามเวทีต่างทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อย เจนสังเวียนมากขึ้นจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐานทั้งเวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินี ได้มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังหลายคน เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย, ช้างน้อย ศรีมงคล, บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์, ฉมวกเพชร ช่อชะมวง จนปี พ.ศ. 2538 จึงขึ้นชกมวยไทยครั้งสุดท้าย ชนะน็อค สุวิทย์เล็ก ส.สกาวรัตน์ ยก 4 แล้วจึงหันมาเอาดีด้าน มวยสากลสมัครเล่นอย่างเดียว ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท จัดเป็นนักมวยเงินแสนคนหนึ่ง


เมื่อสมรักษ์จบ ม.6 จากโรงเรียนผดุงศิษย์ฯ ได้ขึ้นชกในนามสโมสรราชนาวี และได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือ สมรักษ์ประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ เขาได้เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ในปี พ.ศ. 2535 สมรักษ์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากการเป็นนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกือบจะถูกตัดสิทธิ์ เพราะตรวจสมรรถภาพร่างกายไม่ผ่านในครั้งแรก ต่อมา พ.ศ. 2538 สมรักษ์ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือก ไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้เป็นผลสำเร็จอีกครั้ง สมรักษ์โด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539 เมื่อสมรักษ์สามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ โดยชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5 เส้นทางสู่ทองประวัติศาสตร์เริ่มจากรอบแรกเอาชนะแดเนี่ยล เซต้า นักชกเปอร์โตริโก 13-2, รอบสอง ชนะฟิลิป เอ็นดู จากแอฟริกาใต้ 12-7, รอบสามหรือรอบก่อนรองชนะ รามาส พาเลียนี่ จากรัสเซีย 13-4 และรอบตัดเชือก สมรักษ์ชนะ พาโบล ชาคอน จากอาร์เจนตินาไปได้ 20-8 และท้ายที่สุดเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรียไปได้ ซึ่งก่อนการชกในรอบชิงชนะเลิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้พระราชทานกระเช้าผลไม้มายังสมรักษ์ และทีมงานพร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะด้วย โดยการแข่งขันโอลิมปิคในครั้งนี้ สมรักษ์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kamsing Somluck” โดยเจตนาให้มีนัยทางโชคด้วย ซึ่งการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในครั้งนี้ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท มาด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ และทางกองทัพเรือ (ทร.) ต้นสังกัดก็ได้เลื่อนยศให้สมรักษ์ เป็น เรือตรี (ร.ต.) ซึ่งเดิมสมรักษ์มียศเป็น จ่าเอก (จ.อ.)

ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้ว สมรักษ์กลายเป็นบุคคลชื่อดังไปในทันที กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ ในเวลาไม่นาน ด้วยจากความเป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา สนุกสนาน มีสีสัน น่าสนใจ ภายหลังจากกลับมาจากโอลิมปิคที่แอตแลนต้าแล้ว สมรักษ์ก็มีงานในวงการบันเทิงเข้ามา เริ่มจาก ละครเรื่อง “นายขนมต้ม” ทางช่อง 7 ที่รับบทเป็นนายขนมต้มพระเอกเอง โดยประกบคู่กับ กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ นางเอก และเพื่อน ๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน และนับแต่นั้นมา สมรักษ์ก็มีสถานะเหมือนเป็นดาราคนหนึ่ง มีงานต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ จนมีเวลาซ้อมชกมวยน้อยลงแต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า จนได้ฉายาว่า “โม้อมตะ” ภายหลังตกรอบแรกในโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ปี พ.ศ. 2547 เขาก็ได้เลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาด ปัจจุบัน สมรักษ์ยังคงมีงานในวงการบันเทิง มีผลงานออกมาเป็นระยะ ๆ เขามีกิจการของตัวเอง เช่น ร้านหมูกระทะ ชื่อ “สมรักษ์ย่างเกาหลี” อยู่ย่านเกษตร-นวมินทร์ และมีค่ายมวยของตนเอง ชื่อค่าย “ส.คำสิงห์” ด้านชีวิตครอบครัว สมรักษ์แต่งงานกับนางเสาวนีย์ คำสิงห์ ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งคู่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่ขอนแก่น โดยทั้งคู่มีบุตรชายหญิงด้วยกันรวม 2 คน


แหล่งอ้างอิง

  • http://athlate.satc.or.th
  • http://www.nangdee.com