⇑ บุคคลสำคัญ

⇑ ทำเนียบนักเรียนนายเรือ พ.ศ. 2462

พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายอู๋ ธารีสวัสดิ์ กับ นางเงิน ธารีสวัสดิ์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และได้ไปศึกษาในแผนกคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้สอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือ(พรรคนาวิน) จนจบการศึกษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2467 หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในวิชากฎหมาย จนได้เป็นเนติบัณฑิตเมื่อ พ.ศ.2473 ท่านเริ่มเข้ารับราชการในกรมเสนาธิการทหารเรือ และได้ไปฝึกหัดในเรือของบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม และ เรือต่างๆ อีกหลายลำ ตามตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผู้บังคับบัญชาการ ร.ล.ตอร์ปิโด 4 ต้นเรือตอร์ปิโด ร.ล.พระร่วง นายธง (นายทหารคนสนิท) ของเสนาธิการทหารเรือ ผู้บังคับการเรือรบหลวงตอร์ปิโด 2 ขณะที่ท่านรับราชการในกองทัพเรือ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

ท่านได้ร่วมอยู่ในคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 สายทหารเรือ ซึ่งมี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับ หลวงศุภชลาศัย หลวงนาวาวิจิตร หลวงนิเทศกลกิจ หลวงสังวรยุทธกิจ และนายทหารเรือคนอื่นๆ รวม 18 นาย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ประเภท 2 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ใน พ.ศ.2476 พร้อมทั้งทำหน้าที่เลขานุการคณะรัฐมนตรีอีกตำแหน่งด้วย ในปี พ.ศ.2477 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชบัลลังก์ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน นอกจากนี้ ใน พ.ศ.2478 ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ต่อมาใน พ.ศ.2481 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนท่านจอมพลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2487 ท่านได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีลิ้นทอง” เนื่องจากเป็นคนมีวาทศิลป์ดี ทั้งการพูด และการอภิปรายในสภา ที่เฉียบคม จับประเด็นเก่ง และสามารถหาเหตุผลมาหักล้างคำพูดของฝ่ายตรงข้ามได้ ดังเช่น ในครั้งหนึ่ง เมื่อญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยเกณฑ์ชายไทยไปเป็นทหารเข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น ท่านได้ปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้แรงงานชายไทยในการทำไร่ทำนา เว้นแต่ญี่ปุ่นจะหาคนมาทำงานในไร่นาแทนได้ ทำให้ญี่ปุ่นล้มเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าว เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ ดร.ปรีดีลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 21 สิงหาคม ปีเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน


ในระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์อย่างหนัก ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ตกอยู่ในฐานะของ ประเทศผู้แพ้สงครามโดยปริยาย จึงต้องมีการเจรจากับสัมพันธมิตร เพื่อหาทางให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ ภายในประเทศเอง ก็ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง ทั้งการว่างงาน ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้ออย่างหนัก และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แม้กระทั่งข้าวสาร รัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ฯ ได้ดำเนินการให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศสและอังกฤษ เพื่อผ่อนปรนข้อเรียกร้องต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องการส่งข้าวแก่สหประชาชาติ อังกฤษ และสหรัฐ ตามความตกลงที่มีอยู่ โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ห้ามกักกันข้าว และหาทางจูงใจให้พ่อค้าขายข้าวแก่รัฐบาล ในส่วนของปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ท่านได้ตั้งองค์การสรรพาหาร เพื่อซื้อสินค้าซึ่งในเวลานั้นมีราคาแพง มาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูก เพื่อตรึงราคาสินค้า และเรียกเก็บธนบัตร ซึ่งสัมพันธมิตรนำมาใช้ในประเทศไทย โดยให้ประชาชนนำมาแลกกับธนบัตรที่รัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้ง การนำทองคำสำรองของประเทศ ออกมาจำหน่าย ทำให้ปัญหาต่างๆ บรรเทาเบาบางลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงลงได้ในทันทีทันใด พร้อมกันนั้นก็มีเสียงกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รู้เห็นเป็นใจในการส่งข้าวชนิดดีไปต่างประเทศและให้คนไทยกินข้าวหักๆ ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสั่งรถยนต์บูอิค ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้ามาใช้ ในเวลาที่ประเทศกำลังอดอยาก รวมทั้งกรณี การสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่รัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงให้เกิดความกระจ่างได้ ทำให้ฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค เป็นแกนนำ ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาล จะมีชัยในการอภิปราย แต่ประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปราย ซึ่งถ่ายทอดออกอากาศตลอด 8 วัน 8 คืน ก็ค่อนข้างคล้อยตามคำพูดของฝ่ายค้าน ทำให้เกิดกระแสกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรง ท่านจึงแสดงมารยาททางการเมือง ด้วยการตัดสินใจลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2490 แต่สภาผู้แทนก็มีมติ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยการนำของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และพันเอกกาจ กาจสงคราม และเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ภายหลังจึงกลับมาเมืองไทยใช้ชีวิตอย่างสงบ ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี


แหล่งอ้างอิง

  • http://www.thaigov.go.th
  • http://www.komchadluek.net
  • https://th.wikipedia.org