⇧ เทคโนโลยีทางเรือ

เทคโนโลยี Stealth หรือ LO technology (Low Observable Technology) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เป็นเทคโนโลยีล่องหน ซึ่งไม่ได้หมายความว่ายานนั้นสามารถล่องหนได้จริง ๆ เพียงแต่ ทำให้ตรวจจับได้ยากขึ้นเท่านั้น เพราะการตรวจจับได้ยาก ก็ไม่ต่างอะไรกับการล่องหน เทคโนโลยีล่องหนนี้ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในเครื่องบิน โดยได้รับแนวความคิดเรื่องรูปทรงมาจากเครื่องบินประเภท Flying Wing ซึ่งผลิตออกมาเป็นเครื่องบินรบที่ใช้ปฏิบัติการจริง อย่าง F-117 และ B-2 เทคโนโลยีล่องหนในเครื่องบินนั้น จะเป็นการลดการตรวจจับจากเรดาร์ , อินฟาเรด และสายตา โดยการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของเครื่องเพื่อให้เกิดการบิดเบือนการสะท้อนคลื่นเรดาร์ แทนที่คลื่นเรดาร์เมื่อมากระทบตัวเครื่องแล้วจะสะท้อนกลับไปในทิศทางเดิม ก็จะเกิดการหักเหไปในทิศทางอื่น ทำให้เรดาร์ที่แพร่คลื่นออกมาไม่ได้รับสัญญาณสะท้อนกลับ จึงทำให้ตรวจจับเครื่องบิน Stealth ไม่ได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้วัสดุที่ทำหน้าที่เหมือนกับดักคลื่นเรดาร์ (วัสดุที่มีคุณสมบัติที่เรียกว่า re-entrant triangles) คือ เมื่อคลื่นเรดาร์สัมผัสกับพื้นผิว แทนที่จะสะท้อนกลับ ด้วยโครงสร้างที่ออกแบบมาเป็นพิเศษจะทำให้คลื่นเรดาร์ทะลุเข้าไปในพื้นผิว และสะท้อนไปมาอยู่ภายในวัสดุนั้นจนคลื่นหมดพลังงานในการเคลื่อนที่ จนไม่มีการสะท้อนคลื่นออกไปยังแหล่งกำเนิด หรือไม่ก็ใช้การเคลือบพื้นผิวทั้งหมดด้วยวัสดุดูดซับคลื่นเรดาร์เพื่อลดการสะท้อนของเรดาร์ ทางด้านการป้องกันการตรวจการณ์ด้วยสายตานั้น ก็ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากเครื่องบินประเภทนี้ ไม่ได้มีขนาดที่ีใหญ่มาก เมื่อบินในระดับสูง และความเร็วสูงแล้ว ก็ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า หรือกล้องส่องทางไกลได้อยู่แล้ว

เรือ Sea Shadow ของ ทร.สหรัฐฯ

นอกจากนั้้นยังเพิ่มความตรวจจับยากด้วยการใช้สีด้าน ไม่สะท้อนแสง และสีที่ออกในโทนมืด คลื่นรังสีความร้อนยังมีผลอย่างมากต่อการตรวจจับด้วยรังสีอินฟาเรด หรือที่เราอาจจะคุ้นเคยในชื่อของ การตรวจจับคลื่นความร้อน อันเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการตรวจจับทางทหาร ซึ่งคลื่นความร้อนของเครื่องบินก็จะออกมาจากท่อไอเสียของเครื่องบินนั่นเอง


เทคโนโลยี Stealth ก็ต้องครอบคลุมถึงเรื่องนี้ด้วยการลดความร้อนของไอเสีย โดยมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ วิธีการใช้อากาศจากบรรยากาศเข้ามาคลุกเคล้ากับแก๊สเสีย เพื่อให้อุณหภูมิของแก๊สเสีย อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอากาศในชั้นบรรยากาศก่อนปล่อยออกนอกตัวเครื่อง , การออกแบบให้ท่อแก๊สเสียอยู่เหนือปีกเครื่องบิน เพื่อให้ปีกเครื่องบินเป็นเสมือนโล่ห์ป้องกันการตรวจจับรังสีความร้อนจากเบื้องล่าง , การติดตั้งระบบหล่อเย็น ให้กับท่อแก๊สเสีย ก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ คลื่นวิทยุ , อุปกรณ์ตรวจจับของอากาศยานเอง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อากาศยานจะปล่อยออกมา และเป็นการเผยให้เห็นตำบลที่ของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมีการลดคลื่นวิทยุเหล่านี้ ซึ่งก็มีอุปกรณ์หลายชนิดที่ทำหน้าที่ในด้านนี้เช่น Passive Infared Sensor , Low Light Level Television , Low Probability of Intercept Radar

เรือฟริเกตชั้น La Fayette ของ ทร.ฝรั่งเศส

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือเทคโนโลยี Stealth ที่ใช้กับอากาศยาน แต่สำหรับเรือแล้ว ต้องมีมากกว่านั้น เพราะพื้นที่ปฏิบัติการของเรืออยู่ในน้ำ ซึ่งอันตรายที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเรือผิวน้ำ ก็คือเรือดำน้ำดังนั้น การลดการตรวจจับเสียง จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม นอกเหนือจากการป้องกันการตรวจจับด้านอื่น ๆ เหมือนของอากาศยาน ดังนั้นจึงมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายมาช่วยลดเสียงใต้น้ำ ได้แก่ การเสริมฐานแท่นเครื่องด้วยยาง เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ต่าง ๆ ให้ส่งผ่านไปถึงท้องเรือน้อยที่สุด , การเคลือบยางที่ใบจักร เพื่อสดเสียงจากใบจักร , การใช้เครื่องทำฟองลดเสียงตัวเรือ ที่เรียกว่า Prairie Masker เพื่อสร้างฟองอากาศเล็ก ๆ ขึ้นรอบ ๆ ตัวเรือและใบจักร เพื่อลดเสียงอันเกิดจากแรงเสียดทานของตัวเรือกับน้ำ รูปร่างของเรือ Stealth นั้น จะมีเหลี่ยมมุมน้อย พื้นที่นอกตัวเรือจะราบเรียบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกในเรือแบบดั้งเดิม จะพยายามซ่อนไว้ในตัวเรือให้มากที่สุด เช่น อุปกรณ์สมอ , กว้าน , เสาอากาศ ฯลฯ ด้วยรูปทรงของเรือแบบนี้ทำให้ลดการตรวจจับของ เรดาร์ไปได้มากกว่า 50% ทำให้เรือฟริเกตขนาด 3,000 กว่าตัน สามารถมองเห็นในจอเรดาร์ได้เทียบเท่ากับเรือขนาด 1,000 กว่าตัน ซึงจะทำให้เรือศัตรูคาดคะเนความสามารถของเรือผิดไป หรือแม้แต่คิดว่าเป็นเรือประมง หรือเรือสินค้าก็เป็นได้

เรือคอร์เวตชั้น Visby ของ ทร.สวีเดน

สำหรับทั่วโลกนี้ มีเรือ Stealth อยู่หลายลำ ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และที่เข้าประจำการแล้ว ได้แก่ เรือ Sea Shadow ของสหรัฐฯ, เรือฟริเกตชั้น La Fayetteของฝรั่งเศส , เรือคอร์เวตชั้น Visby ของสวีเดน , เรือพิฆาตชั้น Darling ของอังกฤษ , เรือคอร์เวตชั้น Braunschweig และเรือฟริเกตชั้น Sachsen ของเยอรมัน

เรือพิฆาตชั้น Darling ของ ทร.อังกฤษ

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman
  • https://sakraweekalajak.wordpress.com