⇧ เทคโนโลยีทางเรือ

ระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ VTS (Vessel Traffic System) หรือ VTMS (Vessel Traffic Management System) เป็นระบบมาตรฐานสากลสำหรับท่าเทียบเรือหรือศูนย์ควบคุมเรือเข้า-ออก เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร เฝ้าฟัง (Monitor) อุบัติภัยทางทะเล และประสานงานควบคุมการเดินเรือในร่องน้ำ ตรวจจับเรือด้วยเครื่องเรดาร์ เครื่องวิทยุ AIS กล้องโทรทัศน์วงจรปิด และสื่อสารกับเรือผ่านระบบวิทยุ MF/HF หรือ VHF/DSC พร้อมด้วยระบบฐานข้อมูลเรือคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับใช้งานภายในเขตท่าเรือ หรือบริเวณเขตพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวก และความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลการขนส่งทางน้ำ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่อง และระบบ Logistics อีกทั้งยังสนับสนุนภารกิจในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

ระบบและอุปกรณ์หลักของระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ

  • ระบบติดตามเรือ (Surveillance System) เป็นระบบติดตามด้วยอุปกรณ์แสดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ ระบบด้วยเรดาร์ ระบบแสดงตำแหน่งเรือด้วยสัญญาณวิทยุ และระบบการติดตามเรือด้วยโทรทัศน์วงจรปิด
  • ระบบการสื่อสาร (Communication System) เป็นการติดต่อสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบเครือข่ายวิทยุ หรือโทรศัพท์ดาวเทียม ได้แก่ การติดต่อที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว มีการตอบโต้ได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อระหว่างฝั่งกับเรือ และระหว่างเรือกับเรือ
  • ระบบการรักษาความปลอดภัยและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (Safely & Crisis Management) ประกอบด้วย ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ระบบข้อมูลสำหรับผู้บริหาร (Executive information System) ประกอบด้วย ระบบข้อมูลสนับสนุนการบริหาร และการตัดสินใจ และระบบวิเคราะห์ และสรุปข้อมูลสำหรับผู้บริหารท่าเรือหรือศูนย์ VTS


ลักษณะการทำงานของโปรแกรมระบบควบคุมจราจรทางน้ำ VTS / VTMS

  • สามารถทำงานต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ตรวจจับภายนอกต่างๆ ได้เช่น ระบบกล้องวงจรปิด CCTV, ระบบเรดาร์, ระบบ AIS (Automatic Identification System) เพื่อให้ได้มาซึ่งพิกัดตำแหน่งและข้อมูลการเคลื่อนที่ของเรือ หรือเป้าหมายต่างๆ
  • สามารถตรวจจับและแสดงเป้าหมาย (Targetได้ทั้งวัตถุที่ตั้งอยู่ประจำที่ (Static Targets) และวัตถุที่เคลื่อนที่ (Moving Targets)
  • สามารถรับข้อมูลเป้า (Target Information) และตรวจจับเส้นทางของเป้าหมาย (Target Track) ทั้งที่เคลื่อนไหว และอยู่ประจำที่ได้ ภายใต้พื้นที่รับผิดชอบได้ ถึงแม้จะถูกรบกวนจากสภาวะแวดล้อมทางทะเลต่าง ๆ
  • ภายในโปรแกรมมีระบบแสดงตนอัตโนมัติผ่านทางคลื่นวิทยุ (Automatic Identification System: AIS) และระบบเรดาร์ (Radar System) เพื่อใช้เฝ้าสังเกตการณ์และตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเป้าหมายติดตั้งภายในโปรแกรมไว้แล้ว
  • สามารถนำภาพเป้าหมายทั้งหมดที่ตรวจจับได้แสดงผลที่หน้าจอเจ้าหน้าที่ควบคุม VTS บนแผนที่อิเลคทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล
  • มีระบบการเตือนภัยต่างๆ ทั้งแบบข้อความ (Message) และเสียงร้องเตือน (Alarm) ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน VTS สามารถปรับแต่งหรือตั้งได้
  • เจ้าหน้าที่ VTS สามารถอำนวยความสะดวกแก่เรือที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อการนำร่องอย่างปลอดภัย (Safe Navigation and Maneuvering) และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการจราจรทางน้ำ
  • มีระบบการจัดเก็บประวัติและข้อมูลการเดินทางผ่านเข้าและออกในพื้นที่รับผิดชอบของเรือทุกประเภท เพื่อประโยชน์ในการรวบรวม, วิเคราะห์, และตรวจสอบย้อนหลัง (Traffic Database Management)
  • ฐานข้อมูลในโปรแกรมสามารถบันทึกข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น เป้าจากระบบ AIS, กล้องวงจรปิด, และเป้าจากระบบเรดาร์ได้ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงซ้ำ (Play-Back) ได้ เป็นการนำข้อมูลกลับมาตรวจสอบในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ต่างๆ ย้อนหลังได้

ประโยชน์ที่ได้รับ และความสำคัญ ของระบบควบคุมจราจรทางน้ำ

  • ด้านความปลอดภัยในการเดินเรือภายในเขตท่าเรือ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากระบบ VTS หรือ VTMS อาทิเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเรือ และข้อมูลสินค้าที่บรรทุก จะเป็นประโยชน์ในการจัดการจราจรเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือโดยเจ้าหน้าที่ VTS จะมีข้อมูลที่เพียงพอในการแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่การเดินเรือแก่เจ้าพนักงานนำร่อง หรือกัปตันเรือ และหากมีโอกาสที่จะเกิดเรือชนก็จะสามารถแจ้งเตือนให้เรือเปลี่ยนทิศทางหรือลดความเร็วลง เพื่อไม่ให้เรือชนกันได้ ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยให้กับการเดินเรือมากยิ่งขึ้น
  • ประโยชน์ในด้านการวางแผนการล่วงหน้าให้บริการเกี่ยวเนื่อง และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนของท่าเรือและการทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) ตลอดเวลาจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนและเตรียมการในการให้บริการต่างๆ แก่เรือ ตามที่เรือแจ้งมา รวมทั้งสามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริการนำร่อง บริการเรือลากจูง บริการเรือรับเชือก บริการขนถ่ายและกำจัดสิ่งปฏิกูล บริการขนถ่ายสินค้า บริการอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการขนถ่ายสินค้า บริการน้ำจืด บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง บริการซ่อมแซมอุปกรณ์และซ่อมเรือ รวมไปถึงบริการด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง บริการตรวจและกักกันโรค เป็นต้น
  • ประโยชน์ในด้านการควบคุมหรือลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากความล่าช้าของเรือ ในกรณีที่เกิดความล่าช้าจากเรือที่ใช้บริการท่าเทียบเรือ เจ้าหน้าที่ VTS สามารถแจ้งข้อมูลความล่าช้าให้กับเรือลำต่อไปที่จะเข้าเทียบท่าให้จอดรอ ชะลอความเร็ว หรือใช้ความเร็วที่ก่อให้เกิดความประหยัดได้ ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องที่เตรียมให้บริการ ณ ท่าเทียบเรือ ก็สามารถจัดทรัพยากรไปใช้ในงานอื่นก่อนได้ไม่ต้องเสียเวลารอคอย เป็นต้น
  • ประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูลเรือและการขนส่งทางน้ำ ข้อมูลที่ได้รับจากระบบ VTS หรือ VTMS สามารถนำมาจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลเรือที่เข้าออกและการขนส่งทางน้ำของแต่ละท่าเรือ ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการจัดการด้าน Logistics ของแต่ละท่าเรือได้เป็นอย่างดี
  • ประโยชน์ในด้านการเป็นศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ในกรณีที่เกิดอุบัติภัยทางน้ำ ระบบ VTS สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งพิกัดเรือหรือคำนวณพิกัดที่น่าจะเกิดเหตุ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของเรือ ให้แก่หน่วยงานช่วยเหลือได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเพื่อให้เตรียมการส่งความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบ ทำการคำนวณขอบเขตรวมทั้งทิศทางการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลเพื่อจะได้เตรียมการขจัดคราบน้ำมัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพลดความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเล
  • ประโยชน์ในด้านการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของท่าเรือจากกลุ่มมิจฉาชีพหรือกลุ่มก่อการร้าย ในกรณีที่พบเรือต้องสงสัยหรือได้รับการประสานจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ศูนย์ควบคุมจราจร VTS สามารถที่จะช่วยสอดส่องและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ และหน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.auvis.co.th