ความเป็นมา
หลังพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น โดยมีนาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นหัวเรือหลัก เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่กองทัพเรือไทยเคยมีมา เป็นการขยายกำลังรบทางเรือมากกว่าเดิมชนิดหลายเท่าตัว ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลทยอยแบ่งจ่ายให้เป็นเวลา 6 ปีเต็มปีล่ะ 3 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท (รวมงบประมาณประจำปีจำนวน 1 ล้านบาทต่อปีด้วย) จึงสามารถจัดหาเรือรบหลากหลายรูปแบบเข้าประจำการตามความต้องการของกองทัพเรือ นอกจากเรือรบทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ทั้งผิวน้ำและใต้น้ำแล้ว เรือลำเลียงพลก็เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่สำคัญมาก ในปี พ.ศ. 2480 กองทัพเรือไทยจึงสั่งต่อเรือลำเลียงพลจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงสีชัง และเรือหลวงพงัน จากอู่ฮาริมา เมืองโกเบ ในวงเงิน 677,000 บาท
เรือหลวงสีชังได้รับภารกิจสำคัญในกรณีสงครามเกาหลี เพื่อปฏิบัติราชการร่วมกับองค์การสหประชาชาติ มีหน้าที่ลำเลียงทหารของกรมผสมที่ 21 หน่วยทหารไทย และหน่วยพยาบาลจากสภากาชาดไทย และเป็นเรือลำเลียงของหน่วยทหารไทยประจำเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อเล็งเห็นว่าไม่มีภารกิจที่เหมาะสมในการใช้งานอีกแล้ว เรือหลวงสีชังจึงเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 21 สิงหาคม 2494 เรือลำเลียงพลชั้นเรือหลวงสีชัง ผ่านสงครามใหญ่ถึง 3 สมรภูมิด้วยกันคือ กรณีพิพาทระหว่างไทย – อินโดจีนฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ซึ่งถือเป็นการอวดธงราชนาวีไทย ต่อนานาประเทศทั่วโลก และยังคงรับใช้ชาติในฐานะเรือลำเลียงพลต่อไปอย่างยาวนาน กระทั่งปลดประจำการวันที่ 23 ธันวาคม 2526
คุณลักษณะของเรือ
- ทั่วไป
- พิธีรับมอบเรือ 30 ส.ค. 2480
- ขึ้นระวางประจำการ 5 ต.ค. 2481
- ปลดประจำการ 23 ธ.ค. 2526
- ผู้สร้าง อู่ฮาริมา เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
- คุณลักษณะทั่วไป
- ความยาวตลอดลำ 58.50 เมตร
- ความกว้าง 9.30 เมตร
- ระวางขับน้ำ 1,374 ตัน
- ความเร็วสูงสุด 12.80 นอต
- ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,051 ไมล์ ที่ 15 นอต
- ระบบอาวุธ
- ปืนใหญ่ลำกล้องสั้น Japanese 76/25 มม. แท่นเดี่ยว 2 กระบอก
- ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม. แท่นเดี่ยว จำนวน 2 กระบอก
- ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. แท่นเดี่ยว จำนวน 1 กระบอก
- ระบบขับเคลื่อน
- เครื่องจักรดีเซล
- เรือในชุดเดียวกัน
- เรือหลวงสีชัง(ลำที่ 1)
- เรือหลวงพงัน(ลำที่ 1)
แหล่งอ้างอิง
- http://pantip.com
- http://thaimilitary.blogspot.com