ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ฝรั่งชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชียมากขึ้น ซึ่งมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ การแสวงหาอาณานิคมประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญวน เขมร ลาว ได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนประเทศพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเหตุผลที่ไทยต้องยอมตามคำขาดของฝรั่งเศสอย่างเกือบสิ้นเชิง ก็เพราะอังกฤษปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเพราะต้องการให้ไทยเป็นรัฐกันชนของตนกับฝรั่งเศส จึงไม่ต้องการบาดหมางกับฝรั่งเศส โดยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำเนินการเช่นเดียวกับพระราชบิดา คือ ทรงยอมรับว่าถึงเวลาแล้ว ที่ไทยจะต้องผูกสัมพันธไมตรี กับพวกฝรั่งต่างชาติ และจากการที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง จึงทรงนำเอาความเจริญรุ่งเรืองที่ทรงพบเห็นมาปรับปรุงประเทศชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือของพวกฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการรุกรานของพวกฝรั่งชาติตะวันตกได้ โดยเฉพาะชาติอังกฤษและฝรั่งเศส
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ประเทศทั้งสองรวม 5 ครั้ง และจากกรณีการรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.112 นั้น ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนไป ทั้งลาวและเขมร ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
ความรุนแรงเริ่มขึ้น จากในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 เมอสิเออร์ เดอลองคล์ (M.deloncle) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศส เร่งรัดให้ รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาเขตแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร จากนั้นฝรั่งเศสก็ได้ยกกำลังทหาร เข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตง (Lutin) เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อต้นปี พ.ศ.2436 โดยอ้างว่า เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจำต้องยินยอม แต่เหตุการณ์มิได้ยุติลงเพียงนี้ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามายังประเทศไทย รวมกับเรือลูแตงที่มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว 3 ลำ รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่าการที่ต่างประเทศนำเรือของตน เข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ เกิน 1 ลำ เป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัยสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธฝรั่งเศสไป พร้อมด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางฝ่ายไทยก็ได้เตรียมการป้องกันตนเอง และมอบหมายให้กองทัพเรือ เตรียมกำลังป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตย โดยมี นายพลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนปฏิบัติการ ป้องกันการบุกรุกของกองเรือรบ ฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา 13 กรกฎาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)
กองทัพเรือได้ส่งเรือรบจำนวนหนึ่งมาคอยป้องกันการล่วงล้ำจากฝ่ายศัตรู ร่วมกับป้อมปืนที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารเรือไทยและป้อมปืนได้พยายามต่อต้านอย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากยังเป็นกองทัพเรือที่สร้างขึ้นใหม่ องค์บุคคลและอาวุธยุทโธปกรณ์ยังไม่พร้อม เรือรบฝรั่งเศสจึงตีฝ่าผ่านเข้าไปถึงกรุงเทพฯ นครหลวงของไทยได้โดยง่าย โดยการป้องกันของฝ่ายไทยมีดังนี้
- ให้ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมฝีเสื้อสมุทร ซึ่งติดตั้งปืนอาร์มสตรอง ขนาด 6 นิ้ว เตรียมพร้อม เพื่อจะหยุดยั้งการบุกรุกของเรือรบฝรั่งเศส
- ให้เรือรบ 9 ลำ เตรียมพร้อมอยู่ที่ด้านเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยเรือที่วางกำลัง ป้องกันเหล่านี้ ส่วนมากเป็นเรือล้าสมัย หรือ เรือกลไฟ ซึ่งเรือประจำในแม่น้ำมีเรือที่ทันสมัยอยู่เพียง 2 ลำ คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์
- วางเครื่องกีดขวางที่ปากน้ำเจ้าพระยา เช่น ตาข่าย สนามทุ่นระเบิด และสนามยิง ตอร์ปิโด เป็นต้น
ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังกรุงเทพ ฯ โดยมี เรือ เจ. เบ. เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง หมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้ยิงด้วยนัดดินเปล่าเพื่อเป็นการเตือนเรือรบฝรั่งเศส ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ในที่สุดต่างฝ่ายก็ระดมยิงโต้ตอบกันเรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าต่างก็ระดมยิงไปยังเรือรบฝรั่งเศส การรบได้ดำเนินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษก็ยุติลง เพราะความมืด เป็นอุปสรรค เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ส่วนเรือนำร่อง ถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง
เปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย
ก. ฝ่ายฝรั่งเศส
- เรือสลุปแองคองสตังค์ ระวางขับน้ำ 825 ตัน ความเร็ว 13 นอต ปืนใหญ่14 ซม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 1 กระบอก ปืนกล 37 มม. 5 กระบอก มีนายนาวาโท โบรี (Bory) เป็น ผู้บังคับการเรือ และผู้บังคับหมู่เรือ
- เรือปืนโคแมต ระวางขับน้ำ 495 ตัน ปืนใหญ่ 14 ซม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 2 กระบอก ปืนกล 37 มม. 2 กระบอก มีนายเรือเอก หลุยส์ ดาร์ติช ดู ฟูร์เนต์ (Louis Dartige du Fournet) เป็นผู้บังคับการเรือ
ข. ฝ่ายไทย
มีนายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้อำนวยการ ป้องกันปากน้ำ เจ้าพระยา
- เรือปืน มกุฎราชกุมาร ระวางขับน้ำ 609 ตัน ความเร็ว 11 นอต อาวุธประจำเรือ ใน พ.ศ.2436 ยังไม่ทราบชัด ฝ่ายฝรั่งเศส บันทึกว่า มีปืนใหญ่ บรรจุ ปากกระบอก 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่ บรรจุปากกระบอก 12 ซม. 5 กระบอก ปืนกล 3 กระบอก มี นายนาวาโท กูลด์แบร์ก (Commander V. Guldberg) เป็นผู้บังคับการเรือ มิสเตอร์ สมาร์ท (Mr. W. Smart) เป็นต้นกลเรือ
- เรือปืน มูรธาวสิตสวัสดิ์ ระวางขับน้ำ 250 ตัน ปืนใหญ่ อาร์มสตรองบรรจุ ปากกระบอก 70 ปอนด์ 1 กระบอก ปืนใหญ่บรรจุ ปากกระบอก 10 ซม. 4 กระบอก ปืนกล 1 กระบอก มี นายเรือเอก คริสต์มาส (Lieutenant W.Christmas) เป็นผู้บังคับการเรือ มิสเตอร์ แคนดุตตี (Mr. G. Candutti) เป็นต้นเรือ
- เรือหาญหักศัตรู เรือป้อม ระวางขับน้ำ 120 ตัน ความเร็ว 7 นอต ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 12 ซม. 1 กระบอก มีนายเรือเอกสมีเกโล (Lieutenant S. Smiegelow) เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือราชการ ระวางขับน้ำ 260 ตัน ปืนใหญ่บรรจุ ปากกระบอก 10 ซม. 6 กระบอก มีนายทหารไทย เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือทูลกระหม่อมเรือฝึก (เรือใบ) ระวางขับน้ำ 475 ตัน ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 10 ซม. 6 กระบอก มีนายทหารไทย เป็นผู้บังคับการเรือ
- ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซม. 7 กระบอก มี นายร้อยเอก ฟอนโฮลค์ (Captain C. von Holck) เป็นผู้บังคับการ
- ป้อมฝีเสื้อสมุทร ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซม. 3 กระบอก มี นายร้อยเอก เกิตส์เช (Captain T.A. Gottsche) เป็นผู้บังคับการ
- เรือวางทุ่นระเบิด มี นายร้อยเอก เวสเตนโฮลซ์ (Captain Westenholz) เป็นผู้อำนวยการ
ความเสียหายภายหลังการรบ
- ทหารฝรั่งเศส ตาย 3 คน บาดเจ็บ 3 คน
- ทหารไทยตาย 8 คน และบาดเจ็บ 40 คน
ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ไทยกับฝรั่งเศสได้ยุติการสู้รบกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเป็นเหตุให้ไทยเราต้องเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสเป็นเนื้อที่จำนวนมากมาย โดยที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงไว้ซึ่งเอกราช และอธิปไตยของไทย และจากเหตุการณ์การสู้รบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า การว่าจ้างชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอ ที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือ ไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทย ทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดี จึงจะใช้การได้จึงทรงส่ง พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการ ทั้งใน ด้านการปกครอง การทหารบก ทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป
แหล่งอ้างอิง
- http://www.addsiam.com
- https://e-journal.sru.ac.th