⇧ เกร็ดความรู้ชาวเรือ

ทหารเรือส่วนมากเข้าใจว่า นายทหารซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายธงนั้น ก็เพื่อทำหน้าที่คอยรับใช้งานต่าง ๆ ของนายทหารชั้นนายพลเรือนั่นเอง ตามประวัติความเป็นมาที่จริงแล้ว มีดังนี้ คือ เมื่อครั้งที่สมัยเรือรบยังไม่มีวิทยุสัญญาณโคมไฟและธงสองมือ การสื่อสารส่วนใหญ่ใช้วิธีชักธงสัญญาณ (เหมือนกับธงประมวลในปัจจุบัน) เป็นคำ ๆ ไป และมีนายทหารสัญญาณ (Flag Signal Officer) เป็นผู้คอยรับผิดชอบ ซึ่งต้องทำงานที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บังคับการเรือตลอดเวลา นอกจากมีหน้าที่ชักธงสัญญาณแล้ว ยังต้องทำหน้าที่การสื่อสารซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดต่อกับผู้บังคับการเรืออยู่เสมอ สำหรับราชนาวีไทย ก่อนที่จะมีตำแหน่งนายธงเกิดขึ้น คงมีตำแหน่งราชองครักษ์ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการประจำตัวผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนตำแหน่งราชองครักษ์มาเป็นตำแหน่ง เลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่งรับใช้ผู้บัญชาการทหารเรือ และปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลาราชการแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือก็ให้เป็นหน้าที่ของกรมปลัดทัพเรือ ครั้นถึงในสมัย นายพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในสมัยนั้น มีพระดำริว่า ในกรมบัญชาการกระทรวงทหารเรือควรมีตำแหน่งนายเวรวิเศษเหมือนกระทรวงอื่น ๆ และนายทหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ตั้งแต่ผู้บัญชาการกรมขึ้นไปบางตำแหน่ง ควรมีนายทหารสัญญาบัตร เป็นนายธงประจำตัว เพื่อสะดวกในการปฏิบัติราชการ ดังนั้น จึงทรงตราข้อบังคับทหารเรือว่าด้วย หน้าที่นายเวรวิเศษและนายธงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ไว้ดังนี้

  • ต้องเป็นนายทหารเหล่าเดินเรือ หรือเหล่าพลรบฝ่ายบก ต้องเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร แต่มียศไม่สูงกว่านาวาตรีขึ้นไป
  • ผู้ที่เป็นราชองครักษ์จะมีตำแหน่งเป็นนายธงด้วยไม่ได้
  • ผู้บังคับบัญชาทหารเป็นนายพลเท่านั้นจึงจะมีนายธงประจำตัวได้
  • ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งใดจะมีนายธงประจำตัวแล้วแต่กระทรวงทหารเรือจะได้มีคำสั่งอีกชั้นหนึ่ง
  • นายธงมีหน้าที่ดังนี้
    • ต้อนรับผู้ซึ่งมีความประสงค์จะยื่นเรื่องราว หรือพบสนทนาข้อราชการกับนายพลผู้ซึ่งตนประจำ
    • ไปในการเยี่ยมคำนับ หรือในการอื่น ๆ แทนตัวนายพลในเมื่อนายพลมีคำสั่ง
    • ดำเนินการตามคำสั่งของนายพลไปสั่งราชการแก่เจ้าหน้าที่หรือไปสนทนาข้อราชการแก่เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่นายพลจะได้สั่ง
    • ทำการงานอื่น ๆ แล้วแต่นายพลซึ่งตนเองประจำอยู่จะสั่ง

เมื่อได้ตราข้อบังคับขึ้นใช้แล้ว จึงได้ตราข้อบังคับว่าด้วย สายโยงเครื่องหมายนายเวรวิเศษและนายธงขึ้น ให้นายเวรวิเศษและนายธงมีสายโยง 1 เส้น ทำด้วยไหมทองสลับไหมดำขนาดย่อมโยง ปลายสายทั้งสองจากบ่ายศข้างขวา นายเวรวิเศษให้โยงจากบ่ามาอกรวบท้องโค้งแห่งสายนั้น แขวนไว้ที่ดุมเสื้อที่ 1 ข้างบน ส่วนนายธงให้คล้องใต้แขนห้อยไว้ ถ้าสวมเสื้อไม่มีบ่ายศให้มีแผ่นผ้าสีดำรูปตามแบบ ของกระทรวงทหารเรือติดที่บ่าเสื้อข้างขวาแทนบ่ายศ และบนแผ่นผ้านั้นให้มีเครื่องหมายสังกัดและเครื่องหมายประเภทราชการไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ใช้สายโยงตำแหน่งกับเครื่องแบบชนิดต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดอีกด้วย ต่อมานายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพิจารณาเห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นผู้บัญชาการกรมขึ้นไปที่มียศนายพลเท่านั้น จึงจะมีนายธงประจำตัวได้ ผู้บังคับบัญชาบางคนที่ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ยังไม่ได้เป็นนายพลไม่สามารถที่จะมีนายธงได้ จึงทรงตราข้อบังคับทหารเรือเพิ่มเติมเสียใหม่ ให้มีตำแหน่งนายทหารคนสนิทขึ้นอีก สำหรับประจำตัวผู้บัญชาการกรม ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นนายพล มีหน้าที่เหมือนนายธงทุกประการ และให้เป็นนายทหารพรรคนาวินหรือพรรคนาวิกโยธิน มียศไม่สูงกว่าเรือเอก และกำหนดให้ใช้สายโยงหมายตำแหน่ง นายทหารคนสนิทสายไหมทองล้วน 1 เส้น มีขนาดเทากับสายเกลี้ยงแห่งสายหมายตำแหน่งราชองครักษ์ ให้โยงจากปลายสายทั้งสองจากบ่ายศข้างขวาไปสอดคล้องใต้แขนห้อยไว้ ตำแหน่งนายทหารคนสนิท จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา หลังจากมีตำแหน่งนายธงแล้วประมาณ 10 ปี ในปัจจุบันกองทัพเรือคงมีตำแหน่งนายธง เพียงตำแหน่งเดียวที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้กับนายทหารชั้นยศ นายพลเรือตรีขึ้นไป ที่มีอัตรากำหนดให้มีนายธงได้ นายธงจะมีชั้นยศตั้งแต่ ร.ต. – น.อ. เป็นนายทหารพรรคนาวิน พรรคนาวิกโยธิน สำหรับนายธงที่ปฏิบัติหน้าที่ภายนอกกองทัพเรือ อาจจะเป็นนายทหารมาจาก พรรคใดก็ได้ แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาในชั้นยศนั้น ๆ จะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมทำหน้าที่นายธง


แหล่งอ้างอิง

  • http://www.navedu.navy.mi.th