เกาะโลซิน เป็นภูเขาหินปูนใต้น้ำ มีส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นกองหินเพียง เล็กน้อย จึงมักถูกเรียกว่ากองหินโลซิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ห่างจากชายฝั่งระยะทาง 72 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกาะโลซินยังคงความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเลไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งแนวปะการังที่สวยงาม และสัตว์ทะเลที่สวยงามแปลกตานานาชนิด เป็นที่พักพิง หลบภัยของเหล่าสัตว์ทะเลน้อยใหญ่หลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะแนวปะการังที่สมบูรณ์สวยงามรอบ ๆ เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 493.75 ไร่ จึงทำให้ที่แห่งนี้ กลายเป็นที่ใฝ่ฝันของนักดำน้ำ คำว่า โลซิน Losin คาดว่าเพี้ยนมาจาก Lusin ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า 12 ซึ่งเป็นหน่วยนับพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ดังนั้นเกาะโลซิน อาจหมายถึง เกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุด นอกจากนี้ด้วยความที่เกาะโลซินตั้งอยู่ห่างไกลออกไปในทะเล
จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้อาณาเขตพื้นที่ทางทะเลของไทยกว้างออกไป โดยทำให้ไทยสามารถใช้เป็นจุดอ้างอิง ในการประกาศทะเลอาณาเขตออกจากเกาะโลซินไปถึง 200 ไมล์ทะเล ครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อย่างก๊าซธรรมชาติ
การประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย-มาเลเซียนั้นมีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง และเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังใน พ.ศ.2515 ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้นใช้การแบ่งเขตทางทะเลด้วยวิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่าย หรือที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ด้วยวิธีเช่นนั้นทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก และพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด
แต่สุดท้ายแล้ว “เกาะโลซิน” ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล ครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างก๊าซธรรมชาติ โดยไทยยืนยันว่าได้ก่อสร้างประภาคารติดไฟส่องสว่างไว้บนเกาะหินแห่งนี้เพื่อแสดงอาณาเขตมาเนิ่นนาน อีกทั้งตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว ได้ระบุความหมายของเกาะว่า คือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่น้ำเข้าไปด้วย โลซินจึงได้กลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมจำนน
และที่สุดใน พ.ศ.2522 ไทยและมาเลเซียจึงเจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตร.กม. โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เป็นเวลา 50 ปี ซึ่งเมื่อมีการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็พบว่า แหล่งก๊าซที่มีปริมาณมากถึงราว 75% นั้น อยู่ในซีกพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมาเลเซีย แต่ไทยเราได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเพราะการอ้างอาณาเขตจากเกาะโลซินที่เป็นเพียงกองหิน จนหลายคนให้ฉายาเกาะโลซินว่า “กองหินแสนล้าน” ตามมูลค่าของแหล่งก๊าซธรรมชาติ
แหล่งอ้างอิง
- https://www.dmcr.go.th/
- https://mgronline.com