เกาะตะรุเตา เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ จังหวัดสตูล ห่างจากเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย 4.8 กิโลเมตร โดยคำว่า “ตะรุเตา” เป็นภาษามลายู เพี้ยนมาจากคำว่า ตือโละตาวาร์ (Teluk Tawar) แปลว่า “อ่าวจืด” หรือ “อ่าวน้ำจืด” เพราะบนเกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เดียวที่มีธารน้ำจืดอยู่
ในปี พ.ศ. 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็นทัณฑสถาน เป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ปลายปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (พ.ศ. 2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ. 2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดมีราว 4,000 คน
ต่อมา ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้นปี พ.ศ. 2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมา ในที่สุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาเมื่อปี พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในที่สุด ในเกาะมีนักโทษการเมืองรวมกว่า 4,000 คน นักโทษเหล่านี้ถูกทารุณกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการเฆี่ยนตี สมอบก การใช้แรงงานอย่างทารุณกรรม รวมถึงการฆาตกรรม เช่นการยิงทิ้ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอให้จัดที่ดินบริเวณเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล รวมเนื้อที่ประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเมื่อนที่ 19 เมษายน 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของประเทศไทย และในภายหลัง อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการประกาศจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็น ASEAN Heritage Parks หรือ อุทยานมรดกแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 ในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วย 7 เกาะใหญ่ ด้วยกัน คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี โดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะ ตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี โดยเกาะตะรุเตา เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ 152.01 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพืชพรรณไม้มีความอุดมสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังพบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จำนวนที่พบมากกว่า 30 ชนิด เช่น หมูป่า กระจง ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่ขนเรียบ เม่นหางพวงใหญ่ อีเห็นธรรมดา บ่าง กระรอกบินแก้มสีแดง หนูท้องขาว และค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก นก จำนวนมากกว่า 268 ชนิด ประกอบด้วย นกยางเขียว นกยางทะเล นกออก นกเด้าดิน นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล นกจาบคาหัวเขียว นกตะขาบดง นกแก็ก นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกแอ่นบ้าน นกปรอดคอลาย นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเขียวคราม นกเด้าลมดง นกอีเสือสีน้ำตาล นกขุนทอง นกกินปลีอกเหลือง นกเอี้ยงถ้ำ สัตว์เลื้อยคลาน พบมากกว่า 30 ชนิด ประกอบด้วย ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวตุ๊กแก งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว งูพังกา งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูเห่า งูปล้องทอง แย้ จิ้งจก ตุ๊กแกบ้าน จิ้งเหลน กิ้งก่า และเต่าหับ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ทะเล และสัตว์น้้ำจืด อีกจำนวนหนึ่ง
แหล่งอ้างอิง
- https://th.wikipedia.org
- http://park.dnp.go.th