⇧ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี

Wolfpack หรือ ฝูงหมาป่า เป็นยุทธวิธีเรือดำน้ำของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

เรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat ภาษาเยอรมันคือ U-Boot ย่อมาจาก Unterseeboot เรือใต้ทะเล) ของเยอรมนีเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ในสงครามโลกครั้งที่สอง จากการออกล่าเรือสินค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ลำเลียงเสบียงอาหารและสัมภาระอื่นๆ มายังเกาะอังกฤษ คาดหวังจะให้อังกฤษเกิดความขาดแคลนจนต้องยอมแพ้ นายกฯ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ของอังกฤษได้เขียนในหนังสือประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง เล่มสอง ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1949 ระบุว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เขากลัวระหว่างสงครามคือภัยคุกคามจากเรืออู

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักเรืออูในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีมีการใช้งานเรืออูมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่วงแรกๆ เรืออูปฏิบัติการล่าเรือสินค้าแบบฉายเดี่ยว แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่ออังกฤษรวมเรือสินค้าหลายๆ ลำเข้าด้วยกันเป็นขบวนคอนวอย มีเรือรบคุ้มกัน ส่งผลให้เรืออูไม่สามารถฝ่าเข้าไปได้ตามลำพัง เยอรมนีจึงตัดสินใจจะใช้เรืออูหลายลำร่วมกันล่าเรือสินค้าในขบวนคอนวอย คล้ายฝูงหมาป่าหรือ Wolfpack (ภาษาเยอรมัน Rudeltaktik) ปัญหาคือในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีมีจำนวนเรืออูน้อยเกินไป ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าพอจะใช้ประสานงานเรือดำน้ำจำนวนมากในระยะไกลได้ ยุทธวิธีฝูงหมาป่าจึงไม่ได้รับการพัฒนาแบบเต็มประสิทธิภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ต่อมาพลเรือเอกคาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz) ซึ่งเคยเป็นกัปตันเรืออูสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำเยอรมัน ยุทธวิธีฝูงหมาป่าจึงถูกนำมาพัฒนาอีกครั้ง โดยเขาเรียกยุทธวิธีของเขาในการสงครามเรือดำน้ำว่ารูเด็ลทัคทิค (Rudeltaktik) ซึ่งแปลว่า “ยุทธวิธีแห่งฝูงสัตว์” หลักการคือเรืออูของเยอรมันจะกระจายกำลังกันออกค้นหาขบวนคอนวอยเรือสินค้า เมื่อเรืออูลำหนึ่งพบคอนวอยแล้ว ก็จะติดตามและแจ้งพิกัดตำแหน่งของคอนวอยนั้นทางวิทยุไปยังกองบัญชาการ จากนั้นกองบัญชาการก็จะแจ้งไปยังเรืออูลำอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงมารวมตัวกันเตรียมโจมตีคอนวอยนั้นจากหลายทิศทาง เมื่อเรือทุกลำประจำตำแหน่งแล้ว เรืออูลำแรกก็จะเปิดฉากยิงตอร์ปิโดก่อน ล่อให้เรือรบที่คุ้มกันคอนวอยอยู่ออกค้นหาเรืออูลำดังกล่าว จากนั้นเรืออูลำที่สองก็จะเปิดฉากยิงตอร์ปิโดบ้าง จากนั้นก็ลำที่สาม สี่ห้า ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ (บางครั้งอาจมีเรืออูเข้าร่วมการโจมตีมากถึง 20 ลำ) ยุทธวิธีนี้ส่งผลให้กองเรืออูจมเรือสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงสร้างความสับสนให้เรือรบที่คุ้มกันขบวนคอนวอยอยู่

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยุทธวิธีฝูงหมาป่าก็ยังถูกใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก เพราะสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เยอรมนีจะพัฒนากองทัพเรือหรือครีกสมารีเน่อ (Kriegsmarine) ได้ตามแผน เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1939 เยอรมนีมีเรืออูเพียง 57 ลำ ในจำนวนนี้มีเพียง 26 ลำที่ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการในมหาสมุทรเป็นระยะทางไกล นอกจากนี้ตอร์ปิโดของเยอรมันรุ่นแรกๆยังมีประสิทธิภาพไม่ดีด้วย ต้องรอเวลาถึงปี ค.ศ.1940 เมื่อเยอรมนีต่อเรือดำน้ำออกมาจำนวนมากขึ้น มีการพัฒนาตอร์ปิโดรุ่นใหม่ รวมถึงสามารถยึดครองฝรั่งเศส ได้ฐานทัพเรือหลายแห่งริมอ่าวบิสเคย์ เช่นที่เมืองแซงต์ นาแซร์ (Saint-Nazaire) เป็นฐานทัพหน้าในการส่งเรืออูออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกได้เต็มที่

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของยุทธวิธีฝูงหมาป่าเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1940 ช่วงคืนวันที่ 16 – 19 ตุลาคม ขบวนคอนวอยรหัส SC-7 ซึ่งประกอบด้วยเรือสินค้าจำนวน 34 ลำและเรือคุ้มกัน 5 ลำ ลำเลียงสินค้าจากแคนาดามายังอังกฤษ ถูกโจมตีโดยฝูงหมาป่าซึ่งประกอบด้วยเรืออูจำนวน 7 ลำ สามารถจมเรือสินค้าได้ถึง 20 ลำ ระวางขับน้ำรวมกันเกือบ 80,000 ตัน โดยที่เยอรมันไม่สูญเสียเรืออูแม้แต่ลำเดียว ต่อมาคืนวันที่ 19 ตุลาคม ขบวนคอนวอยรหัส HX-79 ซึ่งประกอบด้วยเรือสินค้าจำนวน 49 ลำและเรือคุ้มกัน 11 ลำ ก็ถูกโจมตีโดยฝูงหมาป่าประกอบด้วยเรืออู 5 ลำ จมเรือสินค้าได้อีก 14 ลำ โดยที่ไม่มีเรืออูถูกจมอีกเช่นกัน การที่มีเรือสินค้าถูกจมติดๆกันถึง 34 ลำ ส่งผลให้ทั้งสองเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives) ตามชื่อเหตุการณ์ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) กวาดล้างแกนนำหน่วย Sturmabteilung หรือ SA เมื่อปี ค.ศ.1934 ในช่วงนี้กองทัพเรือเยอรมันตั้งใจจะใช้ปฏิบัติการของเรืออู กดดันอังกฤษร่วมกับการโจมตีของกองทัพอากาศหรือลุฟท์วัฟเฟอ (Luftwaffe) ใน Battle of Britain เนื่องจากเยอรมนีเชื่อว่าอังกฤษมีเรือรบไม่พอสำหรับคุ้มกันเรือสินค้าและป้องกันเกาะอังกฤษจากการยกพลขึ้นบกของเยอรมันในปฏิบัติการสิงโตทะเล (Operation Sea Lion) พร้อมกันได้ แต่เมื่อกองทัพอากาศเยอรมันไม่สามารถครองน่านฟ้าอังกฤษได้ ส่งผลให้ปฏิบัติการสิงโตทะเลถูกเลื่อนไม่มีกำหนด กองทัพเรือเยอรมันก็ถูกทิ้งให้รบกับอังกฤษต่อไปตามลำพัง ขณะที่ฮิตเลอร์หันความสนใจไปทางทิศตะวันออกแทน


สถานการณ์ของอังกฤษเริ่มดีขึ้นช่วงกลางปี ค.ศ.1941 จากการใช้เทคโนโลยีใหม่เช่นเรดาร์ เครื่องบินรบ ฯลฯ ในการปราบเรือดำน้ำ ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม อังกฤษสามารถยึดเรืออู-110 พร้อมเครื่องถอดรหัสอีนิกม่า (Enigma) ส่งผลให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกองเรือดำน้ำเยอรมันได้ เยอรมนีเสียกัปตันเรือดำน้ำที่มีฝีมือหลายนายในช่วงเวลานี้เช่น กุนเธอร์ พรีน (Gunther Prien) กัปตันเรืออู-47,ออตโต เครชเมอร์ (Otto Kretschmer) กัปตันเรืออู- 99 ฯลฯ กองทัพเรือเยอรมันเตรียมถอดใจแล้ว จนกระทั่งสหรัฐฯเข้าสู่สงครามในเดือนธันวาคม แม้การที่สหรัฐฯเข้าร่วมสงครามจะส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีจำนวนเรือสินค้าและเรือลำเลียงเพิ่มขึ้นมากก็ตาม แต่จำนวนเรือที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่งผลให้เรือคุ้มกันต้องกระจายกำลังกันออก ประกอบกับลูกเรืออเมริกันขาดประสบการณ์ในการรับมือเรือดำน้ำ ส่งผลให้เรืออูได้เป้าหมายใหม่ กองเรือดำน้ำเยอรมันจึงเล็งเป้าหมายส่วนใหญ่ไปทางสหรัฐฯแทนในปี ค.ศ.1942 ตามตัวอย่างเหตุการณ์โจมตีขบวนคอนวอยรหัส ON 92 ซึ่งออกเดินทางจากเมืองลิเวอร์พูล ในอังกฤษ วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1942 มุ่งหน้าไปสหรัฐฯ คอนวอยนี้ประกอบด้วยเรือสินค้า 41 ลำและเรือคุ้มกัน 6 ลำ นอกจากจำนวนเรือคุ้มกันจะน้อยแล้ว ส่วนใหญ่ยังขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับตรวจจับเรือดำน้ำด้วย

แม้ว่ายุทธวิธีฝูงหมาป่าจะพิสูจน์แล้วว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการขนส่งของพันธมิตร แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็พัฒนาวิธีการรับมือเพื่อเปลี่ยนการควบคุมเรืออูให้ต่อต้านตัวเอง สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือความจริงที่ว่าฝูงหมาป่าต้องการการสื่อสารทางวิทยุที่กว้างขวางเพื่อประสานงานการโจมตี สิ่งนี้ทำให้เรืออูต้องเสี่ยงต่ออุปกรณ์ที่เรียกว่าตัวค้นหาทิศทางความถี่สูง (เอชเอฟ/ดีเอฟ หรือ “ฮัฟ-ดัฟ”) ซึ่งอำนวยให้กองกำลังพันธมิตรทำการตรวจสอบที่ตั้งของเรือข้าศึกที่ส่งสัญญาณและโจมตีพวกมัน นอกจากนี้ เครื่องบินคุ้มกันในอากาศที่มีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่องบินระยะไกลพร้อมเรดาร์ และเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน รวมถึงเรือเหาะ อำนวยให้เห็นเรืออูเป็นจุดในฐานะที่พวกมันประกบตัวคอนวอย (รอคอยการโจมตียามค่ำคืน)

เรืออูของเยอรมันเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวต่อขบวนคอนวอยเรือสินค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรไปจนถึงปี ค.ศ.1943


แหล่งอ้างอิง

  • https://militaryanddiplomacy.com
  • https://th.wikipedia.org