⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

กองทัพเรือได้พยายามดำเนินการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศมาเป็นเวลานานประมาณ 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณ มีไม่เพียงพอ จึงทำให้กองทัพเรือมีเรือรบไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศทางทะเล “โครงการบำรุงกำลังทางเรือ” เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 8 ปี พ.ศ. 2478 โดยมี นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ และรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้เสนอโครงการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผ่านผู้บัญชาการทหารเรือ (นายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ บุญชัย สวาทะสุข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม) จนถึงคณะรัฐบาล โดยทำเป็น “พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478” นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ในการประชุมสภาครั้งที่ 62/2477 และได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2478 กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น มีนายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของคณะกรรมการฯ คือ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย ได้มีดำริที่จะสร้าง “เรือฝึกหัดนักเรียน” ขึ้นด้วยงบประมาณประจำปีของกองทัพเรืออยู่แล้วทั้งๆ ที่กำลังเสนอพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือต่อรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรด้วยพิจารณาเห็นว่า ร.ล.เจ้าพระยา “มีสภาพเหมาะที่จะเป็นเรือฝึกนักเรียนแต่ไม่เหมาะกับการ อวดธง” เพราะไม่มีอาวุธ ส่วน ร.ล.รัตนโกสินทร์ และ ร.ล.สุโขทัย “มีสภาพเหมาะกับการอวดธง แต่ไม่เหมาะกับการฝึก”

เรือที่สร้างขึ้นด้วยเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ และเสริมด้วยงบประมาณประจำปีของกองทัพเรือ คือ

  • เรือปืนหนัก 2 ลำ
  • เรือฝึกหัดนักเรียน 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำ (ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต สร้างด้วยงบประมาณพิเศษก่อนพระราชบัญญัติฯ นี้ )
  • เรือทุ่นระเบิด 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ
  • เรือดำน้ำ 4 ลำ
  • เรือลำเลียง 2 ลำ
  • เครื่องบินทะเล 6 เครื่อง และ อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ

พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ ฉบับนี้นับว่าเป็น “ฉบับแรก ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ และของประเทศไทย” และเป็นฉบับเดียวมาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้

การดำเนินการสร้าง

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณารายการของเรือฝึกหัดนักเรียนหรือเรือสลุป 2 ลำนี้หลายครั้ง และมีมติให้ขอพระราชทานชื่อเรือฝึกหัดนักเรียน 2 ลำนี้ว่า “ท่าจีน” และ “แม่กลอง” ในที่สุดกองทัพเรือได้ตกลง สั่งต่อเรือฝึกหัดนักเรียนหรือเรือสลุป 2 ลำ และเรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ จากประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาเป็นผู้ต่อเรือ แยกการต่อเรือจากอู่ต่อเรือ 2 อู่ คือ ร.ล.ท่าจีน และ ร.ล.แม่กลอง ต่อที่อู่ต่อเรืออูรางา เมืองโยโกสุกะ ส่วนเรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ และร.ล.กันตัง ต่อที่อู่ต่อเรืออิชิกาวายิมา กรุงโตเกียว กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาสั่งต่อเรือหลวงทั้ง 5 ลำ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478 และ ได้ส่งนายนาวาเอก พระประกอบกลกิจ เป็นหัวหน้าควบคุมการต่อเรือทั้ง 5 ลำ และนายนาวาโทหลวงชาญจักรกิจ เป็นผู้ควบคุมการต่อ ร.ล.แม่กลอง ให้เป็นไปตามสัญญาที่กำหนด วันที่ 24 กรกฎาคม 2479 เวลา 1045 ซึ่งเป็นวันเดียวกับทำพิธีปล่อย ร.ล.ท่าจีนลงน้ำ ได้มีพิธีวางกระดูกงู ร.ล.แม่กลอง ณ อู่ต่อเรืออูรางา พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตที่โตเกียว เป็นผู้ประกอบพิธี ทางกองทัพเรือจึงได้ถือเอาวันที่ 24 กรกฎาคม 2479 เป็นวันกำเนิด ร.ล.แม่กลอง อู่ต่อเรือได้ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ต่อตัวเรือภายนอกของ ร.ล.แม่กลอง เสร็จเรียบร้อย ทำพิธีปล่อย ร.ล.แม่กลองลงน้ำเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2479 ต่อจากนั้นได้สร้างส่วนประกอบตัวเรือภายนอก พร้อมกับวางเครื่องจักรใหญ่ ติดตั้งอาวุธประจำเรือ

ภารกิจของหน่วย

  • ในยามสงคราม ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศทางทะเลในหน้าที่เรือสลุป สามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ในยามสงบ ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหาร และนายทหาร สำหรับฝึกภาคทะเลเป็นระยะทางไกลจนถึงเมืองท่าต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนทหาร นายทหาร และทหารได้รับความรู้ความชำนาญในการเดินเรือ และเป็นการอวดธงไปด้วย

ภายหลังปลดระวางประจำการ กองทัพเรือ ได้ใช้ประโยชน์ โดยนำไปสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ เรือหลวงแม่กลอง ตั้งอยู่บนบก ณ อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • วางกระดูกงู 24 ก.ค. 2479
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 27 พ.ย. 2479
    • สร้างเสร็จ 20 เม.ย. 2480
    • ขึ้นระวางประจำการ 26 ก.ย. 2480
    • ปลดประจำการ 25 ก.ค. 2539
    • ผู้สร้าง อู่ต่อเรืออูรางา เมืองโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 85 เมตร
    • ความกว้าง 10.5 เมตร
    • กินน้ำลึก 3.7 เมตร
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 1,400 ตัน
    • ความเร็วมัธยัสถ์ 10 นอต
    • ความเร็วสูงสุด 17 นอต
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 16,000 ไมล์
    • กำลังพลประจำเรือ 173 นาย
  • ระบบอาวุธ
    • ปืน 120 ม.ม. จำนวน 4 กระบอก
    • ปืนกล 20 ม.ม. จำนวน 2 กระบอก
    • ปืนกล 40/60 มม. จำนวน 3 กระบอก
    • ตอร์ปิโด 45 ซม. 2 แท่น จำนวน 4 ท่อ
    • เครื่องบินทะเล จำนวน 1 เครื่อง
    • แท่นปล่อยระเบิดลึก 6 แท่น
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ชนิดเครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อร่วมกับเครื่องกังหันไอน้ำ จำนวน 2 เครื่อง
    • ใบจักรคู่
  • เรือในชุดเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

  • https://www3.navy.mi.th