⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

เรือพระที่นั่งมหาจักรี เป็นเรือพระที่นั่งแบบเรือลาดตระเวน ในการสร้างเรือลำนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระยาชลยุทธโยธินทร์ ไปติดต่อกับบริษัท Ramage and Ferguson ต่อที่เมืองลีธ สกอตแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2434 ใช้เวลา 10 เดือนจึงสร้างเสร็จ ออกเดินทางจากเมืองลีธเมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 มาถึงกรุงเทพเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2435 เรือลำนี้เป็นเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 ในการเสด็จในประเทศไทย เช่น เกาะสีชัง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2436 และในการเสด็จประพาศต่างประเทศ เช่น ชวา (พ.ศ. 2439) ยุโรป (พ.ศ. 2440 และ 2450) สิงคโปร์ (พ.ศ. 2445) และออกรับแขกบ้านแขกเมืองหลายครั้งตลอดรัชกาลที่ 5 เรือพระที่นั่งมหาจักรีลำแรกปลดระวางเมื่อ พ.ศ. 2459 ทางราชการขายเรือลำนี้ยกเว้นเครื่องจักรให้บริษัทกาวาซากิ โกเบ ซึ่งทางบริษัทมารับเรือลำนี้ออกจากกรุงเทพฯเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2459 โดยเครื่องจักรของเรือลำนี้ บริษัทกาวาซากิ โกเบ ได้นำไปต่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำที่สอง ซึ่งขึ้นระวางในสมัยรัชกาลที่ 7 (ต่อมาคือ เรือหลวงอ่างทอง ลำที่ 1) และถูกระเบิดทำลายในสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2461 เรือพระที่นั่งมหาจักรี ลำที่ 1 ได้ถูกปรับปรุงดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาด 4,201 ตัน เปลี่ยนชื่อเป็น TAIKO MARU ในปี พ.ศ. 2464 ได้ถูกขายต่อให้ บริษัท Naviera Layetana บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน และเปลี่ยนชื่อเป็น SS LAYETANA จากนั้น ในวันที่ 9 มิ.ย. 2464 ระหว่างเดินทางจาก Helva ไปเมือง Bordeaux เรือได้ประสบอุบัติเหตุจมลงนอกชายฝั่ง เมือง Faro ประเทศโปรตุเกส


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 27 มิ.ย. 2434
    • ขึ้นระวางประจำการ 6 ธ.ค. 2435
    • ปลดประจำการ 23 มิ.ย. 2459
    • ผู้สร้าง บริษัท Ramage and Ferguson, ลีธ, สกอตแลนด์
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 2,600 ตัน
    • ความยาวตลอดลำ 88.40 เมตร
    • ความกว้าง 12 เมตร
    • กินน้ำลึก 4.20 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 16 นอต
    • กำลังพลประจำเรือ 318 นาย
    • เกราะหนา 51 มม.
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนใหญ่อาร์มสตอง 4 นิ้ว (120 มม.) 4 กระบอก
    • ปืนใหญ่ฮอทชกีสขนาด 57 มม. 8 กระบอก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรไอน้ำชนิด 3 สูบ 2 เครื่อง กำลังขับ 3,000 แรงม้า
    • เครื่องจักรท้ายแบบใบจักรคู่


แหล่งอ้างอิง

  • https://th.wikipedia.org