⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

กองทัพเรือได้พยายามดำเนินการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศมาเป็นเวลานานประมาณ 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณมีไม่เพียงพอ จึงทำให้กองทัพเรือมีเรือรบไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศทางทะเล “โครงการบำรุงกำลังทางเรือ” เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 8 ปี พ.ศ. 2478 โดยมี นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ และรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้เสนอโครงการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผ่านผู้บัญชาการทหารเรือ (นายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ บุญชัย สวาทะสุข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม) จนถึงคณะรัฐบาล โดยทำเป็น “พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478” นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในการประชุมสภาครั้งที่ 62/2477 และได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2478 กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น มีนายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของคณะกรรมการฯ คือ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นหัวเรือหลัก เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือไทยเคยมีมา เป็นการขยายกำลังรบทางเรือมากกว่าเดิมชนิดหลายเท่าตัว โครงการนี้เดินหน้าได้ด้วยเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลทยอยแบ่งจ่าย ให้เป็นเวลา 6 ปีเต็มปีล่ะ 3 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท (รวมงบประมาณประจำปีจำนวน 1 ล้านบาทต่อปีด้วย) จึงสามารถจัดหาเรือรบหลากหลายรูปแบบเข้าประจำการตามความต้องการของกองทัพเรือ ประกอบไปด้วย

  • เรือปืนหนัก 2 ลำ
  • เรือฝึกหัดนักเรียน 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำ (ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต สร้างด้วยงบประมาณพิเศษก่อนพระราชบัญญัติฯ นี้ )
  • เรือทุ่นระเบิด 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ
  • เรือดำน้ำ 4 ลำ
  • เรือลำเลียง 2 ลำ
  • เครื่องบินทะเล 6 เครื่อง และ อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ

พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ฉบับนี้นับว่าเป็น “ฉบับแรก ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ และของประเทศไทย” และเป็นฉบับเดียวมาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้

สำหรับเรือวางทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ จากประเทศอิตาลี ได้ทำสัญญาพร้อมกับเรือตอร์ปิโดใหญ่ชั้นเรือหลวงตราดเฟส 2 จำนวน 7 ลำ คือเรือหลวงบางระจันและเรือหลวงหนองสาหร่าย หลังต่อเรือเสร็จมีพิธีส่งมอบเรือในวันที่ 26 พ.ค. 2480 และเข้าประจำการวันที่ 5 ต.ค. 2481 พร้อมเรือตอร์ปิโดใหญ่ที่ต่อจากอู่ต่อเรือเดียวกัน

เรือได้มีการปรับปรุงใหญ่เมื่อครบวงรอบอายุ เฉกเช่นเรือลำอื่นๆ ได้มีการซ่อมแซมเรือทั้งลำเพื่อคงสภาพสมบูรณ์ สร้างห้องวิทยุหลักเพิ่มเติมรวมทั้งติดตั้งเรดาร์เดินเรือจำนวน 1 ตัว ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกทดแทนของเดิม เรือวางทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงบางระจัน ปลดประจำการวันที่ 8 ก.ค. 2523 พร้อมกันทั้ง 2 ลำ


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • ประเภท เรือวางทุ่นระเบิด
    • ขึ้นระวางประจำการ 5 ต.ค. 2481
    • ปลดประจำการ 7 ก.ค. 2523
    • ผู้สร้าง อู่กันดิเอริ ริอูนิดิ เดลลัดดริอาดิ โก ประเทศอิตาลี
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 49.12 เมตร
    • ความกว้าง 7.91 เมตร
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 395 ตัน
    • ความเร็วสูงสุด 13 นอต
  • ระบบอาวุธ
    • รางทุ่นระเบิด 2 ราง
    • บรรทุกทุ่นระเบิดได้ 142 ทุ่น
    • ปืนใหญ่ QF Mk I HA 76/40 มม.จำนวน 2 กระบอก
    • ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นเดี่ยว 1 กระบอก ภายหลังเปลี่ยนเป็น ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอก
    • ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรดีเซล
  • เรือในชุดเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.navy.mi.th
  • http://thaimilitary.blogspot.com
  • http://shipbucket.com