⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

เรือหลวงประแส เป็นเรือคอร์เวต ชั้น Flower ของราชนาวีอังกฤษ เดิมชื่อ HMS Betony (K274) สั่งต่อเมื่อ 8 ธ.ค. 2484 ขึ้นระวางประจำการ เมื่อ ส.ค. 2488 ได้ถูกส่งมอบโดยทันที ให้ ทร.อินเดีย โดยใช้ชื่อว่า HMIS Sind และได้ถูกส่งมอบกลับให้ ทร.อังกฤษใน พ.ค. 2489 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และได้ขายต่อให้ ทร.ไทย ในปี พ.ศ. 2490 และใช้ชื่อว่า ร.ล.ประแส

ร.ล.ประแสเดินทางไปเกาหลีพร้อมด้วย ร.ล.บางปะกง และ ร.ล.สีชัง ซึ่งเป็นเรือลำเลียง พร้อมกับมีเรือสินค้าเฮอร์ตาเมอร์สค์ ที่เช่ามาขนทหารร่วมขบวนไปด้วย และเข้าประจำการกับกองเรือสหประชาชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2493 เป็นต้นมา ภารกิจแรกที่ ร.ล.ประแส และ ร.ล.บางปะกง ได้รับมอบหมายก็คือ ให้ป้องกันการลักลอบเข้าโจมตีอ่าวซาเซโบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานทัพเรือของสหประชาชาติ ร.ล.ประแส ได้เริ่มปฏิบัติงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 ธ.ค. โดยออกตรวจการณ์และรักษาบริเวณช่องทางเข้าฐานทัพเรือซาเซโบตลอดเวลาเช้า ผลัดเปลี่ยนกับเรือบางปะกง และสิ้นสุดภารกิจนี้ในวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันสุดท้าย ภารกิจต่อมาของ ร.ล.ประแส และ ร.ล.บางปะกงก็คือ ในวันที่ 3 ม.ค. 2494 ได้รับมอบหมายให้ไประดมยิงชายฝั่งตะวันออก ของเกาหลีเหนือที่บริเวณเส้นละติจูดที่ 38-39 องศาเหนือ ระหว่างชายฝั่งเมืองซังจอนกับเมืองยังยัง โดยมีเรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช ของสหรัฐร่วมปฏิบัติการณ์ด้วย วันที่ 8 เรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช ซึ่งเป็นเรือคุมขบวน ได้แยกจากขบวนไปปฏิบัติภารกิจอื่น นัดหมายให้ ร.ล.ประแส และ ร.ล.บางปะกงตามไปพบในเช้าวันรุ่งขึ้น ร.ล.ประแส และ ร.ล.บางปะกงจึงแล่นตามกันไป ระหว่างที่ฝ่าคลื่นลมและพายุหิมะหนัก ไปตลอดคืน กำลังแรงของพายุทำให้ ร.ล.ประแสเซผิดทิศทาง ความเร็วของเรือก็ตกลงมากเนื่องจากต้านลม เช้าวันที่ 7 มกราคม เวลา 7.30 น. ร.ล.ประแสซึ่งเป็นเรือนำ เซไปเซมาจนท้องเรือเกยครืดเข้ากับพื้นทราย หยุดนิ่ง ต้นเรือจึงสั่งถอยหลังเต็มตัว แต่ก็ไม่อาจทำให้เรือเขยื้อนได้ สภาพเรือเกยตื้นทำมุม 60 องศา จากฝั่งซึ่งอยู่ห่างเพียง 50 เมตรเท่านั้น บริเวณนั้นคือแหลมคิซามุน เหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไป ประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ในเขตแดนของข้าศึก ร.ล.บางปะกงตามมาถึง ร.ล.ประแส จึงส่งสัญญาณให้ทราบว่าเกยตื้นอยู่ ร.ล.บางปะกงพยายามจะเข้ามาใกล้ที่สุด แต่ยังไม่สามารถช่วยได้ กองทัพเรือสหรัฐได้รีบส่งเรือลากจูงมาด่วน โดยส่งเชือกนำมีทุ่นลอยไป แต่ก็ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้น ร.ล.บางปะกงและเรือรบสหรัฐประมาณ 10 ลำ ก็มาช่วยคุ้มกัน ยิงไปบนฝั่งตลอดเวลาไม่ให้ข้าศึกมารบกวน เช้าวันรุ่งขึ้น เรือลากจูงพยายามส่งเชือกให้ ร.ล.ประแสอีกครั้ง แม้จะใช้ทั้งแรงคนและเครื่องกว้านสมอก็ไม่สามารถดึงเชือกซึ่งเส้นใหญ่ขึ้นไปได้ ทหารบอบช้ำกันมาก เพราะต้องยืนแช่น้ำในขณะที่อากาศหนาวเย็น ทั้งพายุหิมะก็ไม่ได้เบาบางลง เจ้าหน้าที่สหรัฐจึงส่ง เรือโทฮาโรลด์ฮาร์ดิง เจ้าหน้าที่จากเรือลากจูงและพนักงานวิทยุอีก 1 คนไปช่วยบน ร.ล.ประแส แต่ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังส่งเรือโทฮาร์ดิงหย่อนตัวลง บนสะพานเดินเรือ ใบพัดไปฟันเอากิ่งของเสากระโดงเรือที่สำหรับผูกสัญญาณขาด เฮลิคอปเตอร์ตกลงบนสะพานเดินเรือเกิดไฟลุกไหม้ กระสุนปืนกลขนาด 20 มม. ในหีบบนสะพานเรือที่เตรียมไว้ยิง ถูกความร้อนก็ระเบิด สร้างความเสียหายแก่เรือมาก แต่ก็สามารถดับเพลิงได้ภายใน 30 นาที เจ้าหน้าที่สหรัฐบาดเจ็บไม่สาหัส แต่ จ่าโทผวน พรสยม จมน้ำเสียชีวิตไปอีกรายขณะไฟไหม้ ทหารสหรัฐส่งหน่วยกู้ภัย มาช่วยลำเลียงทหารที่อิดโรยออกจาก ร.ล.ประแส แต่สถานการณ์กลับเลวลงอีก ในตอนดึกที่น้ำขึ้น ร.ล.ประแสพยายามเดินเครื่องถอยหลังอีก แต่คลื่นแรงทำให้ท้ายเรือปัดขนานเข้ากับฝั่ง น้ำเค็มเข้าปนกับน้ำมันทำให้เครื่องจักรดับ ถังน้ำจืดก็รั่วน้ำเค็มเข้าไปปน เป็นอันว่าไม่มีทั้งน้ำดื่ม แสงสว่าง และเครื่องทำความอบอุ่น ขณะเดียวกันก็เห็นทหารเกาหลีเหนือปรากฏตัวขึ้นที่ชายฝั่ง และพยายามลุยมาที่ ร.ล.ประแส ทหารที่ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์จึงต้องยิงขับไล่และระวังอย่างหนักไม่ให้เข้ามาใกล้ ความพยายามที่จะกู้ ร.ล.ประแสดำเนินอยู่หลายวันท่ามกลางอากาศอันเลวร้าย จนถึงวันที่ 12 มกราคม แพทย์ทหารสหรัฐยศนาวาโท ประจำเรือลาดตระเวนยูเอสเอส แมนเชสเตอร์ ไปตรวจสภาพลูกเรือ ร.ล.ประแสทางเฮลิคอปเตอร์ และลงความเห็นว่าทหารจะอยู่ในเรือสภาพนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เป็นอันขาด จึงรายงานผู้บังคับการเรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช และสั่งเริ่มลำเลียงทหารจาก ร.ล.ประแสไปที่เรือลาดตระเวนยูเอสเอส แมนเชสเตอร์ การลำเลียงดำเนินไปจนถึง 15 น. ของวันที่ 13 มกราคม ผู้บังคับการ ร.ล.ประแส จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้สละเรือ พร้อมกันนั้นกองบัญชาการสหประชาชาติที่กรุงโตเกียวได้มีคำสั่งให้กองเรือเฉพาะกิจทำลาย ร.ล.ประแส นาวาโทหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ ผู้บังคับการเรือ ได้อำนวยการให้ต้นหนและต้นปืนทำลายสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก ราดน้ำมันและวางดินปืนในที่ต่างๆ แล้วออกจากเรือเป็นคนสุดท้าย ต่อจากนั้น เรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิชได้ระดมยิง ร.ล.ประแส เป็นจำนวน 50 นัดเศษ จนกระทั่งกลายเป็นเศษเหล็ก หมู่เรือคุ้มกันและช่วยเหลือจึงเดินทางกลับฐานทัพที่ซาเซโบ รวมเวลาที่พยายามกู้ ร.ล.ประแสถึง 7 วัน มีทหารจาก ร.ล.ประแส และ ร.ล.บางปะกงป่วย และบาดเจ็บ 27 คน ตาย 2 คน คือ จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ และจ่าโทผวน พรสยม ซึ่งภายหลังได้รับการปูนบำเหน็จเป็นพันจ่าตรี


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • วางกระดูกงู 26 ส.ค. 2485
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 22 เม.ย. 2486
    • ชื่อเดิม HMS Betony ของ ทร.อังกฤษ
    • ชื่อเดิม HMIS Sind ของ ทร.อินเดีย
    • ขึ้นระวางประจำการ ทร.ไทย พ.ศ. 2490
    • ปลดประจำการ 7 ม.ค. 2594
    • ผู้สร้าง บริษัท Alexander Hall and Sons ประเทศอังกฤษ
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 63.40 เมตร
    • ความกว้าง 10.06 เมตร
    • กินน้ำลึก 3.35 เมตร
    • ระวางขับน้ำ ปกติ 1,031 ตัน เต็มที่ 1,137 ตัน
    • ความเร็วมัธยัสถ์ 12 นอต
    • ความเร็วสูงสุด 16 นอต
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ ที่ 12 นอต
    • กำลังพลประจำเรือ 90 นาย
  • ระบบตรวจจับ
    • เรดาร์ Type 271 SW2C
    • โซนาร์ Type 144
  • ระบบอาวุธ
    • ปินใหญ่ 4 นิ้ว (102 มม.) BL Mk.IX แท่นเดี่ยว 1 กระบอก
    • ปืนต่อสู้อากาศยาน Mk.VIII single “pom-pom” 2 ท่อยิง จำนวน 1 ชุด
    • ปืนกล 20 มม Oerlikon แท่นเดี่ยว จำนวน 2 กระบอก
    • แท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำแบบ Hedgehog จำนวน 1 แท่นยิง
    • เครื่องยิงระเบิดลึก Mk.II depth charge จำนวน 4 แท่นยิง
    • รางปล่อยลูกระเบิดน้ำลึก 2 ราง พร้อมลูกระเบิดน้ำลึก 70 ลูก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • ระบบขับเคลื่อน เครื่องยนต์กังหันไอน้ำ 1 เครื่องยนต์ ให้กำลังขับเคลื่อน 2,750 แรงม้า
    • ใบจักร จำนวน 1 เพลาใบจักร
HMS Betony (K274)
เรือประแส ขณะที่เกยตื้นชายฝั่งเกาหลีเหนือ

แหล่งอ้างอิง

  • https://en.wikipedia.org
  • https://www.tapatalk.com
  • http://www.manager.co.th