⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

กองทัพเรือได้เริ่มความสนใจในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ในเอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ. 2453 โดยนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสรรค์ และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้กำหนดให้มีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) จำนวน 6 ลำ และต่อมาในปี พ.ศ.2458 นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความคิดเห็นเรื่องเรือ ส. ระบุถึงข้อมูลแนวทางการจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งาน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ โดยละเอียด

จนกระทั่งเป็นเวลาอีก 20 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2478 กองทัพเรือจึงได้เริ่มการจัดหาเรือดำน้ำ โดยได้ตกลงสร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล.วิรุณ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ซึ่งกองทัพเรือได้รับมอบเรือดำน้ำ 2 ลำแรก คือ ร.ล.มัจฉานุ และ ร.ล.วิรุณ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 และต่อมากองทัพเรือจึงได้กำหนดให้วันที่ 4 กันยายนของทุกปีเป็น “วันเรือดำน้ำ” เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2481 และกองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือทั้ง 4 ลำ ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2481 โดยในระหว่างสงครามอินโดจีน หลังจากยุทธนาวีที่เกาะช้างเมื่อปี พ.ศ.2484 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ทำการลาดตระเวนบริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส สร้างความหวั่นเกรงให้กับฝ่ายฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ต่อมาในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบได้ถูกทิ้งระเบิดจนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และกองทัพเรือได้รับการร้องขอให้นำเรือดำน้ำไปทำการจ่ายกระแสไฟฟ้า ทำให้รถรางในกรุงเทพสามารถวิ่งได้ตามปกติ ชื่อเรือหลวงสินสมุทร เป็นตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ สินสมุทร จากเรื่องพระอภัยมณี โดยเรือหลวงสินสมุทร ประกอบขึ้นพร้อมกับเรือหลวงพลายชุมพล แต่มีรูปแบบแตกต่างกัน โดยเรือหลวงสินสมุทรมีลักษณะภายนอกเหมือนกับเรือหลวงมัจฉาณุและเรือหลวงวิรุณ ทุกประการ

อย่างไรก็ดี หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนอะไหล่ให้กับเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยได้ นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน เมื่อปี 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ทำให้กองทัพเรือถูกปรับลดโครงสร้างและถูกจำกัดงบประมาณเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงกลาโหมได้ลงคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 และกองทัพเรือได้ปลดระวางประจำการเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ในที่สุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นับเป็นการปิดฉากเรือดำน้ำไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 3
    • วางกระดูกงู 1 ต.ค. 2479
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 14 พ.ค. 2480
    • ขึ้นระวางประจำการ 19 ก.ค. 2481
    • ปลดประจำการ 30 พ.ย. 2494
    • ผู้สร้าง อู่ต่อเรือมิตซูบิชิ โกเบ ประเทศญี่ปุ่น
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 51.0 เมตร
    • ความกว้าง 4.10 เมตร
    • กินน้ำลึก 3.60 เมตร
    • ระวางขับน้ำ บนผิวน้ำ 374.5 ตัน ขณะดำ 430 ตัน
    • ความเร็วมัธยัสถ์ 10 นอต
    • ความเร็ว ผิวน้ำ 15.7 นอต ใต้น้ำ 8.10 นอต
    • ดำลึกสุด 60 เมตร
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,770 ไมล์
    • กำลังพลประจำเรือ 33 นาย
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนกลลูวิสต่อสู้อากาศยานขนาด 76/25 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก
    • ปินใหญ่ขนาด 8 ซม. จำนวน 1 กระบอก
    • ตอร์ปิโดขนาด 45 ซม. แบบ เอ.เค. จำนวน 4 ท่อ
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องยนต์ดีเซล 8 สูบ 1,100 แรงม้า (820 กิโลวัตต์) จำนวน 2 เครื่อง
    • เครื่องไฟฟ้ากำลัง 540 แรงม้า (400 กิโลวัตต์) จำนวน 1 เครื่อง

แหล่งอ้างอิง

  • https://pantip.com
  • https://th.wikipedia.org