⇑ พิพิธภัณฑ์ทางเรือ

ความเป็นมา

กองทัพเรือได้พยายามดำเนินการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศมาเป็นเวลานานประมาณ 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณมีไม่เพียงพอ จึงทำให้กองทัพเรือมีเรือรบไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศทางทะเล “โครงการบำรุงกำลังทางเรือ” เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 8 ปี พ.ศ. 2478 โดยมี นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ และรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้เสนอโครงการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผ่านผู้บัญชาการทหารเรือ (นายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ บุญชัย สวาทะสุข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม) จนถึงคณะรัฐบาล โดยทำเป็น “พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478” นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในการประชุมสภาครั้งที่ 62/2477 และได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2478 กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น มีนายนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของคณะกรรมการฯ คือ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นหัวเรือหลัก เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือไทยเคยมีมา เป็นการขยายกำลังรบทางเรือมากกว่าเดิมชนิดหลายเท่าตัว โครงการนี้เดินหน้าได้ด้วยเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลทยอยแบ่งจ่าย ให้เป็นเวลา 6 ปีเต็มปีล่ะ 3 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท (รวมงบประมาณประจำปีจำนวน 1 ล้านบาทต่อปีด้วย) จึงสามารถจัดหาเรือรบหลากหลายรูปแบบเข้าประจำการตามความต้องการของกองทัพเรือ ประกอบไปด้วย

  • เรือปืนหนัก 2 ลำ
  • เรือฝึกหัดนักเรียน 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำ (ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต สร้างด้วยงบประมาณพิเศษก่อนพระราชบัญญัติฯ นี้ )
  • เรือทุ่นระเบิด 2 ลำ
  • เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ
  • เรือดำน้ำ 4 ลำ
  • เรือลำเลียง 2 ลำ
  • เครื่องบินทะเล 6 เครื่อง และ อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ

พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ฉบับนี้นับว่าเป็น “ฉบับแรก ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ และของประเทศไทย” และเป็นฉบับเดียวมาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้ สำหรับเรือหลวงตากใบเป็นเรือตอร์ปิโดเล็ก เดิมชื่อเรือตอร์ปิโด 6 ในชุดมี 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงคลองใหญ่ เรือหลวงตากใบ และเรือหลวงกันตัง


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • ประเภท เรือตอร์ปิโดเล็ก
    • หมายเลข 6
    • วางกระดูกงู 3 ต.ค. 2479
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 26 มี.ค. 2480
    • ขึ้นระวางประจำการ 26 ก.ย. 2480
    • ปลดประจำการ 26 ม.ค. 2513
    • ผู้สร้าง อู่ อิชิกาวาจิมา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 41.80 เมตร
    • ความกว้าง 4.60 เมตร
    • กินน้ำลึก 1.45 เมตร
    • ระวางขับน้ำ ปกติ 135 ตัน สูงสุด 142 ตัน
    • ความเร็วมัธยัสถ์ 12 นอต
    • ความเร็วสูงสุด 18 นอต
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 830 ไมล์ ที่ 12 นอต และ 450 ไมล์ ที่ 18 นอต
    • กำลังพลประจำเรือ 50 นาย
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนกล 20 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล 40/60 มม. จำนวน 1 กระบอก
    • ตอร์ปิโด 45 ซม. แท่นคู่ 1 แท่น(2 ท่อยิง) จำนวน 4 ท่อ
    • แท่นยิงระเบิดลึก 2 แท่น
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรกังหันไอน้ำ(บราวน์เคอติส) จำนวน 2 เครื่อง 1,125 แรงม้า
    • ใบจักรคู่

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.navy.mi.th
  • http://thaimilitary.blogspot.com