⇑ บุคคลสำคัญ

เรือตรี สมยศ ทัศนพันธุ์ (14 มีนาคม พ.ศ. 2458 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงไทยสากล เป็นบุตรของ เรือเอก เจริญ ทัศนพันธุ์ เกิดที่ย่านบ้านหม้อ ถนนเจริญกรุง ที่ร้านเจริญกิจมาลาของผู้เป็นบิดา มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงอยู่กับบิดาและแม่เลี้ยง เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสุทัศน์และโรงเรียนวัดราชบพิธและศึกษาต่อด้านวิจิตรศิลป์ ที่โรงเรียนเพาะช่างชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เคยรวมกลุ่มกับเพื่อนเล่นดนตรี และประกวดร้องเพลงตามงานวัดได้รางวัลมากมาย สมัยเรียนเพาะช่างเกิดขัดแย้งกับแม่เลี้ยงซึ่งไม่พอใจการซ้อมร้องเพลงส่งเสียงดังทุกวัน จึงหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน และเลิกเรียนหนังสือ ไปใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ๆ ยึดอาชีพรับจ้างเขียนภาพโพสเตอร์บ้าง วาดรูปบ้าง และร้องเพลง ประกวดตามงานวัดต่าง ๆ ตามที่ตัวเองชื่นชอบและฝังใจส่วนมากชนะเลิศในการประกวดแทบทุกครั้ง การประกวดร้องเพลงทำให้มีโอกาสรู้จักกับครูเพลงดัง ๆ หลายท่าน แต่ที่ใกล้ชิดที่สุดเห็นจะเป็น“จำรัส สุวคนธ์” ครูจำรัสคอยให้ความช่วยเหลือและแนะนำวิธีการร้องเพลงจนเชี่ยวชาญ

วงการเสียงเพลง กองทัพเรือไทยรับสมัครนักร้องและนักแต่งเพลง ประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ จึงเข้าไปสมัครแข่ง โดยร้องเพลง “บางปู” ของครูล้วน ควันธรรม ได้ที่หนึ่งและบรรจุเข้ารับราชการ รุ่นเดียวกับสุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ เสน่ห์ โกมารชุน สมศักดิ์ เทพานนท์ และปิติ เปลี่ยนสายสืบ สมยศ ตั้งใจทำงาน รับใช้กองดุริยางค์ทหารเรือมาจนถึงปี พ.ศ. 2488 จึงมีโอกาสได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก ในเพลง “รักครั้งแรก” แต่งเองร้องเอง ดนตรีโดยวง เนียน วิชิตนันทน์ โดยบันทึกบนเส้นลวด ทำให้เพลงนี้ไม่ได้รับการเผยแพร่ แต่ภายหลังได้ถูกนำมาบันทึกลงแผ่นเสียงอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2490 สมยศจึงได้มีโอกาสแต่งและร้องเพลงแรกให้กับกองดุริยางค์ทหารเรือ คือเพลง “ลมทะเล” โดยแต่งร่วมกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ ร้องคู่กับ เอมอร วิเศษสุต เพลงที่ 2 คือเพลง “วอลท์ซนาวี” แต่งร่วมกับครูสกนธ์เช่นเดียวกัน บุญส่ง สุนทรโรหิต และ อุไรวรรณ คล้ายบรรเลง เป็นผู้ขับร้อง เพลง “หน้าที่ทหารเรือ” ท่านแต่งเนื้อร้อง-ทำนอง และร้องนำหมู่เอง หลังจากนั้นก็ได้ บันทึกแผ่นเสียงออกมาเรื่อย ๆ เช่นเพลง “เสียงขลุ่ยนางไพร” “ผู้ครองใจ” ส่วนมากจะเป็นแผ่นเสียง hit master voice ตราสุนัขสลากเขียว ของบริษัทนำชัย มาถึงปี พ.ศ. 2492 เพลง “มนต์เมืองเหนือ” ที่ท่านขับร้อง ซึ่งแต่งโดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน โด่งดังสุดๆ ทำให้ทั้งคนร้องและคนแต่งกลายเป็นดาวจรัสฟ้าประดับวงการเพลง และนับจากปี พ.ศ. 2492 – พ.ศ. 2499 ผลงานเพลงของท่านได้รับความนิยมมากมาย เช่น “เรือนหอรอรัก” “แม่นางนกขมิ้น” “วิวาห์น้ำตา” ซึ่งเพลงวิวาห์น้ำตา ท่านแต่งให้ “เฉลิม แก้วสมัย” ขับร้องเมื่อปี พ.ศ. 2496 และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2497 และท่านร้องบันทึกเสียงเองอีกครั้งในปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเพลง” “รอยแผลเก่า” “กระท่อมไพรวัลย์” “เซียมซีเสี่ยงรัก” “ช่อทิพย์รวงทอง” “มิตรแห่งความดี” เป็นต้น “สมยศ ทัศนพันธุ์” เป็นผู้แต่งทำนองเพลงให้กับกองดุริยางค์ทหารเรือ ร่วมกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ ผู้แต่งคำร้อง เช่น “ลมทะเล” “วอลท์ซนาวี” “หน้าที่ทหารเรือ” และเพลงดัง เช่น “เซียมซีเสี่ยงรัก” “รอยแผลเก่า” “น้ำตาผู้ชาย” “ดาวร่วง” “รักครั้งแรก” “ขวัญอ่อน” “เกล็ดแก้ว” และเป็นผู้สนับสนุนให้ครูพยงค์ มุกดาเข้ามาอยู่ในกองดุริยางค์ทหารเรือด้วย หลังจากรับราชการอยู่เป็นเวลา 16 ปี จนกระทั่งมียศเป็นเรือตรี ในปี พ.ศ. 2499 จึงลาออก และตั้งวงดนตรีในปี พ.ศ. 2502 ออกเดินสายรับใช้แฟนเพลงทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าวงดนตรี “สมยศ ทัศนพันธุ์” เป็นวงดนตรีวงแรกที่ออกเดินสายต่างจังหวัด


การรับรางวัล ปี พ.ศ. 2508 ท่านประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต การเป็นนักร้องอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะนักร้องชายยอดเยี่ยม ประเภทลูกทุ่ง จากเพลง “ช่อทิพย์รวงทอง” ผลงานของพยงค์ มุกดา บันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2498 ในงานประกวดแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2508 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 โดย ป.วรานนท์ นับเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2528 ท่านได้รับรางวัล “ส่งเสริมเยาวชนดีเด่น” จากสำนักนายกรัฐมนตรีในเพลง “มิตรแห่งความดี” ขับร้องโดย กรองทอง ทัศนพันธุ์ บุตรสาวคนที่ 4 นับเป็นรางวัลเกียรติยศครั้งที่ 2 ที่ได้รับ

บั้นปลายชีวิต วงดนตรี”สมยศ ทัศนพันธุ์” อยู่รับใช้แฟนเพลงมาจนถึงปี พ.ศ. 2515 ก็เลิกวง เนื่องจากอายุมากขึ้น และหันมาร้องเพลงประจำตามห้องอาหารไนท์คลับ จนถึงปี พ.ศ. 2520 จึงเลิกร้องเนื่องจากเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ยังรับเชิญไปร้องอยู่บ้างเฉพาะที่เป็นงานสำคัญ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2529 โรคภัยไข้เจ็บได้รุมเร้าแทรกซ้อนเข้ามาหลายโรค เช่น นิ่วในไต, ปอดอักเสบ จนต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครั้งสุดท้ายได้เข้าโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2529 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2529 เวลา 04.39 น. ด้วยโรคหัวใจ รวมอายุได้ 71 ปี


แหล่งอ้างอิง

  • https://th.wikipedia.org