⇑ บุคคลสำคัญ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อ นายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก เมื่อยังทรงพระเยาว์เจ้าพระยาจักรีได้ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปเลี้ยง เป็นบุตรบุญธรรม และได้ตั้งชื่อพระองค์ท่านว่า สิน พออายุได้ 9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการ เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตามประเพณีของการรับราชการในสมัยนั้น ในระหว่างรับราชการเป็นมหาดเล็ก นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศหลายภาษา มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษา ครั้นอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส นายสินอุปสมบทอยู่ 3 พรรษา แล้วก็ลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากนายสินเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชกิจต่าง ๆ โดยมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงาน ด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน พ.ศ. 2308 พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงคราม เพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ แล้วก็คิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้ว เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็นอันมากยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้ และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากมีไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้ จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี เจ้าตากทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหษี กรมหลวงบาทบริจา และกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ รวมทั้งพระสนมต่าง ๆ รวมทั้งสิน 29 พระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จ.ศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 พระชนมายุ 48 พรรษา รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี


ประวัติด้านการสงคราม

แหวกวงล้อมออกจากกรุงศรีฯ ขณะที่พระยาตากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม แต่ก็ยังมิได้ไปครองเมืองกำแพงเพชร เพราะต้องต่อสู้กับข้าศึกในการป้องกันพระนคร เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) เล็งเห็นว่าถึงแม้จะอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด พม่าก็ตั้งล้อมพระนครกระชั้นเข้ามาทุกขณะจนถึงคูพระนครแล้ว กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ ไพร่ฟ้าข้าทหารในพระนครก็อิดโรยลงมาก เนื่องจากขัดสนเสบียงอาหาร ทหารไม่มีกำลังใจจะสู้รบ ดังนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยอาสา พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และพรรคพวก รวม 500 คน ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก เวลาค่ำในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ทัพพม่าได้ส่งทหารไล่ติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) และพรรคพวกมาทันกันในวันรุ่งขึ้น ที่บ้านโพธิ์สังหาร พระยาวชิรปราการ (สิน) ได้นำพลทหารไทยจีนเข้ารบกับทหารพม่าเป็นสามารถจนทหารพม่าแตกพ่ายไป และยังได้ยึดเครื่องศาสตราวุธอีกเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางไปตั้งพักที่บ้านพรานนก เพื่อหาเสบียงอาหาร ระหว่างที่ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) หาเสบียงอาหารอยู่นั้น ได้พบทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าประมาณ 30 ม้า พลเดินเท้าประมาณ 2,000 คน ยกทัพมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรี เพื่อเข้ารวมพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงหนีกลับมาที่บ้านพรานนก โดยมีทหารพม่าไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดและชะล่าใจ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงให้ทหารซึ่งเป็นพลเดินเท้าแยกออกเป็นปีกกาเข้าตีโอบพวกพม่าทั้งสองข้าง ส่วนพระยาวชิรปราการ (สิน) กับทหารอีก 4 คน ก็ขี่ม้าตรงเข้าไล่ฟันทหารม้าพม่าซึ่งนำทัพมาอย่างไม่ทันรู้ตัวก็แตกร่นไปถึงพลเดินเท้า พวกทหารพระยาวชิรปราการได้ทีเข้ารุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าจนแตกพ่ายไป การชนะในครั้งนี้ ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารของพระยาวชิรปราการ (สิน) เป็นอย่างมาก พวกราษฏรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ได้ทราบกิตติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิรปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าต่างก็มาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า นายซ่องต่าง ๆ มาเป็นพวก ขุนชำนาญไพรสนฑ์ และนายกองช้างเมืองนครนายก มีจิตสวามิภักดิ์ได้นำเสบียงอาหารและช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะแล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมืองปราจีนบุรีไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตะวันตก ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้วก็กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันทั้งทัพบกทัพเรือไปรอดักพระยาวชิรปราการ (สิน) อยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการ (สิน) ทันกันที่ชายทุ่ง พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นว่าจะต่อสู้กับข้าศึก ซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้ อีกทั้งมีกำลังน้อยกว่ายากที่จะเอาชัยชนะแก่พม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นกำบังแทนแนวค่าย และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้ หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยาวชิรปราการ (สิน) ก็นำทหารประมาณ 100 คนเศษ คอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่งก็แกล้งทำเป็นถอยหนีไปทางช่องพงแขมที่ตั้งปืนใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบายรุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบเข้ามาทางด้านหน้า ขวา และซ้าย จนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไปทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวน ก็ถูกพระยาวชิรปราการ (สิน) นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก นับตั้งแต่นั้นมาทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) อีกต่อไป เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้วได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี ต่างก็มีผู้คนเข้าร่วมสมทบมากขึ้นจนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) ก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระยองชื่อบุญ เห็นกำลังพลของพระยาวชิรปราการมีจำนวนมากมายที่จะต้านทานได้จึงพากันออกมาต้อนรับ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นมีพวกกรมการเมืองระยองหลายคนแข็งข้อคิดจะสู้รบ จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่าย ในคืนวันที่สองที่หยุดพัก แต่พระยาวชิรปราการ (สิน) รู้ตัวก่อน จึงได้ดับไฟในค่ายเสียและมิให้โห่ร้องหรือยิงปืนตอบ รอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็สั่งยิงปืนไปยังพวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการ (สิน) คุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น การที่พระยาวชิรปราการ (สิน) เข้าตีเมืองระยองได้และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ และให้เรียกคำสั่งว่า พระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา

เข้าตีเมืองจันทบุรี เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเป็นอิสระ ที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนับตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่จะรวบรวมเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่า ที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติมีกำลังคนและอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย จึงแต่งทูต ให้ถือศุภอักษรไปชักชวนพระยาจันทบุรีช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกได้ตอบรับทูตโดยดีและรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตาก แต่เกรงจะถูกชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 ข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 แล้ว ก็มีคนไทยที่มีสมัครพรรคพวกมากต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่พระยาจันทบุรียังไม่ยอมเป็นไมตรีกับเจ้าตาก ส่วนขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยองผู้หนึ่งที่เคยปล้นค่ายเจ้าตากก็ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่เมืองแกลง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรีและคอยปล้นชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตาก เจ้าตากจึงยกกำลังไปปราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี ครั้นเจ้าตากจะยกพลติดตามไปก็พอดีได้ข่าวว่าทางเมืองชลบุรี นายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวเป็นใหญ่ ผู้ใดจะเข้ากับเจ้าตาก นายทองอยู่นกเล็กก็จะยึดเอาไว้เสีย เจ้าตากจึงรีบยกทัพไปเมืองชลบุรีแล้วส่งเพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กเกลี้ยกล่อม นายทองอยู่นกเล็กเห็นจะสู้รบไม่ไหวจึงยอมอ่อนน้อม เจ้าตากจึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นพระยาอนุราฐบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับ ฝ่ายพระยาจันทบุรีได้ปรึกษากับขุนรามหมื่นซ่องเห็นว่าจะรบพุ่งเอาชนะเจ้าตากซึ่งหน้าคงจะชนะยาก ด้วยเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็งทั้งรี้พลก็ชำนาญศึก จึงคิดกลอุบายจะโจมตีกองทัพเจ้าตากขณะกำลังข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรี โดยนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี แต่ในระหว่างเจ้าตากเดินทางจะข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรีอยู่นั้นได้มีผู้มาบอกให้เจ้าตากทราบกลอุบายนี้เสียก่อน เจ้าตากจึงให้เลี้ยวกระบวนทัพไปตั้งที่ชายเมืองด้านเหนือ บริเวณวัดแก้ว ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ 5 เส้น แล้วเชิญพระยาจันทบุรีออกมาหาเจ้าตากก่อนที่จะเข้าเมือง แต่พระยาจันทบุรีไม่ยอมออกมาต้อนรับพร้อมกับระดมคนประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน เจ้าตากได้ทบทวนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าแม้ข้าศึกจะครั่นคร้ามฝีมือไม่กล้าโจมตีซึ่งหน้าก็ตาม แต่ฝ่ายพระยาจันทบุรีมีจำนวนมากกว่า ถ้าเจ้าตากล่าถอยไปเมื่อใด ทัพจันทบุรีก็จะล้อมไล่ตีได้หลายทาง เพราะไม่มีเสบียงอาหาร เจ้าตากจึงตัดสินใจจะต้องเข้าตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ให้ได้ และแสดงออกถึงน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวโดยสั่งนายทัพนายกองว่า “เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือ และต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว” ครั้นได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยวโดยเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญละทิ้งหน้าที่แตกหนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ เมื่อเจ้าตากจัดเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่ยังมีพ่อค้าในสำเภาที่จอดอยู่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำไม่ยอมอ่อนน้อม เจ้าตากได้ยกทัพเรือโจมตีสำเภาจีนได้ ทั้งหมดในครึ่งวัน และสามารถยึดทรัพย์สิ่งของได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาจัดเตรียมกองทัพเข้ากู้เอกราช เจ้าตากได้จัดการเมืองตราดเรียบร้อยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนพอดี จึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรี เพื่อตระเตรียมกำลังคน สะสมเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ถึง 100 ลำ รวบรวมกำลังคนเพิ่มได้อีกเป็นคนไทยจีน ประมาณ 5,000 คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมด้วยอีกหลายคน และที่สำคัญก็คือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก นายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก

แม่ทัพเรือกู้ชาติ พอถึงเดือน 11 พ.ศ.2310 หลังสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช ระหว่างทางได้หยุดชำระความพระยาอนุราฐบุรีที่เมืองชลบุรี ซึ่งประพฤติตัวเยี่ยงโจรเข้าตีปล้นเรือลูกค้า ชำระได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้ประหารชีวิตพระยาอนุราฐบุรีเสีย แล้วยกทัพเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน 12 กองทัพเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าตากได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก มีนายทองอินคนไทยที่พม่าให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามา ทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบขึ้นไปบอกข่าวแก่สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกระดมพลขึ้นรักษาป้อมวิชเยนทร์ และหน้าแท่นเชิงเทิน ครั้นกองทัพเรือเจ้าตากเดินทางมาถึง รี้พลที่รักษาเมืองธนบุรี กลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้นกองทัพเรือของเจ้าตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรีได้ เจ้าตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสียแล้วเร่งยกกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวเจ้าตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทยยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือเจ้าตากอยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกกองทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาค่ำสืบทราบว่า มีกองทัพข้าศึกยกมาตั้งรับคอยอยู่ที่เพนียดไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าใด ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพเรือที่ยกมานั้นเป็นคนไทยด้วยกัน ก็คิดจะหลบหนีบ้าง จะหาโอกาสเข้าร่วมกับเจ้าตากบ้างมองญ่าเห็นพวกคนไทยไม่เป็นอันจะต่อสู้ เกรงว่าจะพากันกบฏขึ้น จึงรีบหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนนั้น เจ้าตากทราบจากพวกคนไทยที่หนีพม่ามาเข้าด้วยว่า พม่าถอยหนีจากเพนียดหมดแล้ว ก็รีบยกกองทัพขึ้นไป ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น 2 ค่าย พร้อมกันในตอนเช้า สู้รบกันจนเที่ยง เจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ จึงถือว่า เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้แล้ว หลังจากที่ไทยต้องสูญเสียเอกราชในครั้งนี้เพียง 7 เดือน ภายหลังที่พระเจ้าตากมีชัยชนะกับพม่าแล้ว ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นผู้สร้างวีรกรรมกอบกู้แผ่นดิน ศาสนา ฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของปวงชนที่สิ้นหวังให้รวมพลังเป็นปึกแผ่น สามารถปกป้องรักษาราชอาณาจักรไทยไว้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงให้ความเห็นชอบตามคำเรียกร้องของประชาชน ให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524

เส้นทางเดินทัพทางบกและทางเรือ

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.navy.mi.th
  • http://jas.aru.ac.th