⇧ เทคโนโลยีทางเรือ

เรือดำน้ำทางการทหารในยุคปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือเรือดำน้ำพลังงานดีเซล และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเรือดำน้ำทั้ง 2 แบบนั้น มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน

เรือดำน้ำพลังงานดีเซล เรือดำน้ำพลังงานดีเซลถือเป็นต้นกำเนิดของเรือดำน้ำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการทำงานแบบผสมผสานกันระหว่างระบบเครื่องยนต์ดีเซล และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเรือดำน้ำประเภทนี้ จะใช้เครื่องยนต์ดีเซลในขณะที่ลอยลำอยู่บนผิวน้ำ หรือดำอยู่ในระดับน้ำตื้น ที่สามารถปล่อยท่อสุดอากาศขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ซึ่งเรือดำน้ำ ต้องการอากาศมาใช้ในกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล นอกจากจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรือดำน้ำในระดับน้ำตื้นแล้ว มันก็ยังเชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อชาร์จพลังให้กับชุดแบตเตอรี่จำนวนมากของเรือดำน้ำด้วย ซึ่งชุดแบตเตอรี่นี้ ทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับมอเตอร์ เพื่อขับเคลื่อนเรือดำน้ำที่ระดับความลึก สาเหตุที่เรือดำน้ำดีเซล ต้องเปลี่ยนระบบมาขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อดำน้ำที่ระดับความลึก ก็เพราะว่า ใต้น้ำไม่มีอากาศเพียงพอสำหรับกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้เมื่ออยู่ใต้น้ำ ต้องขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น และทำให้เป็นข้อจำกัดของเรือดำน้ำประเภทนี้ คือไม่สามารถดำน้ำต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลายาวนาน เพราะเมื่อพลังงานในแบตเตอรี่หมดลง เรือก็ต้องขึ้นสู่ระดับผิวน้ำ เพื่อเดินเครื่องยนต์ดีเซล ชาร์จพลังงานให้แบตเตอรี่

เรือดำน้ำดีเซลในยุคแรกนั้นแล่นช้า และเสียงรบกวนมาก ทำให้โดนตรวจจับได้ง่าย แต่ในยุคหลังๆ ได้พัฒนาให้มีเสียงรบกวนน้อยลง มีการปรับปรุงดีไซน์ ทำให้กลายเป็นอาวุธสงครามที่น่ากลัว สามารถปิดการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ตามต้องการ เพื่อทำให้เรือเงียบขึ้น ตรวจจับได้ยากขึ้น สามารถลอยอยู่นิ่งๆ ใต้ผิวน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ และด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างระบบ AIPS (Air Independent Propulsion System อาศัยออกซิเจนเหลวที่บรรจุอยู่ในถัง เป็นตัวช่วยในกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง) ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลสามารถทำงานเมื่ออยู่ใต้น้ำได้นาน ช่วยยืดระเวลาการกบดานอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานเป็นสัปดาห์ เทียบกับเรือดำน้ำดีเซลที่ไม่มีระบบ AIPS จะดำน้ำได้นานสุดเพียง 1-2 วัน ก็ต้องขึ้นสู่ระดับน้ำตื้นเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เรือดำน้ำพลังงานดีเซล สามารถดำน้ำได้ลึก 150-300 เมตร และทำความเร็วสูงสุดได้ 15-20 น็อต (28-37 กม./ชม.)


กองทัพเรือชั้นนำของโลก ได้มีการปลดประจำการเรือดำน้ำพลังงานดีเซลไปบ้างแล้ว เพราะมันถูกแทนที่ด้วยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แต่กองทัพเรือของบางประเทศ อย่างเช่น รัสเซีย, จีน และ อินเดีย ยังมีเรือดำน้ำพลังงานดีเซล ประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยจุดเด่นของเรือดำน้ำดีเซลที่ราคาย่อมเยา และเนื่องจากเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ทำให้ใช้ลูกเรือเพียงจำนวนน้อย

จุดเด่นของเรือดำน้ำดีเซล

  • เงียบกว่าเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ทำให้ตรวจจับได้ยากกว่า
  • ขนาดเล็กและคล่องตัว เป็นอาวุธสังหารชั้นยอดที่ระดับน้ำตื้น
  • สามารถปิดการทำงานเครื่องยนต์ดีเซลได้ตามต้องการ ในขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องทำงานตลอดเวลา
  • สร้างได้ง่าย และอบรมลูกเรือได้ง่าย
  • เรือดำน้ำดีเซลรุ่นใหม่ สามารถติดตั้งจรวดโจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้

จุดอ่อนของเรือดำน้ำดีเซล

  • ความเร็วต่ำทำให้หนีจากการถูกโจมตีด้วยตอร์ปิโด หรือหนีจากการโจมตีของเรือต่อต้านเรือดำน้ำได้ยาก
  • ดำน้ำได้ไม่ลึกมาก ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความลึกของมหาสมุทรเพื่อการอำพรางตัว
  • ดำน้ำได้ไม่นานก็ต้องขึ้นสู่ระดับความตื้นเพื่อชาร์จแบตฯ เรือที่มีระบบ AIPS จะดำน้ำได้เป็นสัปดาห์ ส่วนเรือที่ไม่มีระบบ AIPS จะดำน้ำได้เพียง 1-2 วัน
  • บรรทุกอาวุธได้น้อยเพียง ตอร์ปิโด หรือจรวดมิสไซล์เพียง 12-20 ชุด
  • เนื้อที่ภายในเรือคับแคบ ทำให้ลูกเรือเกิดความเครียดได้ง่าย
เรือดำน้ำระดับชั้น Collins Class (Type 471) ของราชนาวีออสเตรเลีย

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ใช้แหล่งพลังงานหลักจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ได้รับการปรับแต่งให้มีขนาดเล็ก เพื่อที่จะบรรจุลงในเรือดำน้ำได้ ซึ่งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถทำงานเพื่อสร้างความร้อนได้ ไม่ว่าจะอยู่บนน้ำหรือใต้น้ำ ซึ่งความร้อนจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ นำไปต้มนำให้เดือดจนกลายเป็นไอน้ำที่มีความดันสูง จากนั้นจึงใช้ไอน้ำไปผลักแกนใบพัดเรือให้หมุนเพื่อขับเคลื่อนเรือ และในอีกทาง แกนใบพัดเรือเชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) แล้วเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อนำพลังงานไปหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ในเรือ ด้วยที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สามารถทำงานในสภาวะที่เรือดำอยู่ใต้น้ำได้เป็นอย่างดี ทำให้เรือสามารถดำน้ำอยู่ที่ระดับความลึกได้ยาวนานเป็นเดือน โดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ภายในเรือยังมีอุปกรณ์การสร้างออกซิเจน จากน้ำทะเล และมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับการเก็บเสบียงอาหาร และน้ำจืด ทำให้ลูกเรือสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยาวนานใต้ทะเลลึก สามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 90 วัน ก่อนที่จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือกลับฐานเพื่อเติมเสบียง เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ถือเป็นฝันร้ายของระบบเรือต่อต้านเรือดำน้ำเลยทีเดียว เพราะพวกมันสามารถดำลงไปที่ระดับความลึก 600 เมตร และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 30-35 น็อตเมื่ออยู่ใต้น้ำ (56-65 กม./ชม.) ซึ่งเป็นความได้เปรียบที่มีเหนือเรือดำน้ำดีเซล

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ

  1. เรือดำน้ำพิฆาต (Hunter-Killer subs / SSN) หน้าที่ของมันคือโจมตีเรือ และเรือดำน้ำของข้าศึก และสามารถยิงจรวดโจมตีเป้าหมาย บนพื้นดินได้ด้วย
  2. เรือดำน้ำที่เป็นฐานยิงขีปนาวุธ (Ballistic Missile subs / SSBN) อาวุธลับขั้นสุดยอดของชาติมหาอำนาจ มันกบดานอยู่ที่ระดับความลึก และแทบจะไม่ค่อยมีใครได้เห็นมันเลย หน้าที่ของมันคือเป็นฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ โดยในประวัติศาสตร์อันยาวนานของ SSBN มันยังไม่เคยได้ยิงขีปนาวุธในการรบจริงแม้เพียงครั้งเดียว และถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มันต้องยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา นั่นหมายถึงอาจเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เป็นไปได้

แหล่งอ้างอิง

  • https://news.thaiware.com
  • https://en.wikipedia.org
  • https://defencyclopedia.com