ปี พ.ศ. 2482(ค.ศ.1939) เกิดอุบัติเหตุเรือไททานิค (Titanic) อับปางบริเวณตะวันออกของประเทศแคนาดา ในมหาสมุทรแอตแลนติก มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน ส่งผลให้เกิดการประชุมระหว่างประเทศ ณ ประเทศอังกฤษ และจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล หรือโซลาส (Safety of Life at Sea: SOLAS) ในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) เพื่อหามาตรการป้องกัน ว่าด้วยอุปกรณ์ต่างๆด้านความปลอดภัย ของเรือ และได้เห็นชอบให้จัดตั้งองค์กรผู้มีความชำนาญพิเศษของสหประชาชาติเรียกว่า องค์กรทางทะเลโลกหรือไอเอ็มโอ (International Maritime Organization: IMO) ในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ.1948) โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบและมีบทบาทในเรื่องการจัดทำอนุสัญญาโซลาสให้กับรัฐภาคี ซึ่งในด้านการสื่อสารวิทยุคมนาคมได้ระบุไว้ในอนุสัญญาโซลาส พ.ศ. 2517(ค.ศ.1974) แก้ไขปี พ.ศ. 2521(ค.ศ.1978) กำหนดให้เรือโดยสารทุกขนาด และเรือสินค้าตั้งแต่ 300–1,600 ตันกรอสส์ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบบวิทยุโทรศัพท์ และต้องเฝ้าฟังความถี่สำหรับแจ้งภัยตลอดเวลา ในย่านความถี่สูงมากหรือวีเอชเอฟ (very high frequency: VHF) 156.80 เมกกะเฮิรตซ์(MHz) และความถี่ย่านปานกลางหรือเอ็มเอฟ(Medium frequency: MF) 2,182 กิโลเฮิรตซ์(kHz) หากเรือสินค้าเกิน 1,600 ตันกรอสส์ จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบบวิทยุโทรเลขและเฝ้าฟังความถี่สำหรับแจ้งภัย 500 กิโลเฮิรตซ์ด้วย จากข้อกำหนดดังกล่าวมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที เนื่องจาก การใช้คลื่นวิทยุย่านความถี่สูงมาก การแพร่กระจายของคลื่นเป็นเส้นตรง (Space wave) การเดินทางของคลื่นจึงหวังผลได้เพียงประมาณ 50 ไมล์ทะเลเท่านั้น เนื่องจากติดส่วนโค้งของโลกและข้อจำกัดของเสาอากาศของสถานีรับและสถานีส่ง ย่านความถี่ปานกลาง การแพร่กระจายของคลื่นไปตามผิวโลก (Ground wave) ระยะทางหวังผลได้ประมาณ 200 ไมล์ทะเล ส่วนการใช้ระบบวิทยุโทรเลขต้องใช้พนักงานวิทยุที่มีความชำนาญพิเศษโดยเฉพาะรหัสมอร์ส(Morse Code) ในการเข้าและถอดรหัสซึ่งทำให้ระบบการสื่อสารตามอนุสัญญาโซลาสนี้ ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจึงมีการแก้ไขอนุสัญญาโซลาส ในปี พ.ศ. 2531(ค.ศ.1988) โดยองค์กรทางทะเลโลกได้ศึกษาระบบการสื่อสารแจ้งภัยที่เหมาะสม ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาทางวิทยุ(International Radio Consultative Committee:CCIR) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(International Telecommunication Union: ITU) องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organization: WMO) องค์กรอุทกศาสตร์โลก(International Hydrographic Organization: IHO) องค์กรดาวเทียมทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Satellite Organisation: INMARSAT) และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกหลายองค์กร จึงได้พัฒนานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบแจ้งภัยและความปลอดภัย ให้ครอบคลุมทั่วโลกโดยอัตโนมัติ โดยให้ชื่อระบบแจ้งภัยและความปลอดภัยทางทะเลของโลกนี้ว่าระบบจีเอ็มดีเอสเอส (Global Maritime Distress and Safety System:GMDSS)ซึ่งได้กำหนดไว้ในบทที่ 4 ของอนุสัญญาโซลาสให้เริ่มมีผลบังคับใช้และติดตั้งระบบจีเอ็มดีเอสเอสตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535(ค.ศ.1992) และให้สมบูรณ์เสร็จสิ้นภายใน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 (ค.ศ.1999) รวมระยะเวลาเตรียมความพร้อม 7 ปี โดยบังคับใช้กับเรือโดยสารทุกขนาดและเรือสินค้าตั้งแต่ 300 ตันกรอสส์ขึ้นไป โดยยกเว้นให้กับเรือรบ เรือสำราญ ที่ไม่ได้ทำการค้า เรือทำด้วยไม้และไม่ใช้เครื่องจักรกลในการขับเคลื่อน และเรือประมง
หลักการพื้นฐานของระบบ GMDSS ระบบ GMDSS เป็นระบบแจ้งอันตรายและให้ความช่วยเหลือแก่เรือที่ประสบอุบัติเหตุทางทะเลของโลก ซึ่งได้นำเอาระบบดิจิทัล เช่นระบบดีเอสซี (Digital Selective Calling: DSC) ระบบการติดต่อวิทยุต่างๆผ่านดาวเทียม ระบบเครือข่ายและวิธีการค้นหากู้ภัยทั่วโลก (Search and Rescue: SAR) ระบบการรับข่าวเตือนด้านการเดินเรือ และข่าวอากาศทางโทรพิมพ์ (Navigation Telex: NAVTEX) รวมทั้งมีการใช้เรดาร์ชนิด ตอบ-รับอัตโนมัติในการค้นหาเรือที่ประสบอุบัติเหตุ(Search and Rescue Radar Transponder: SART) โดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์ระบบค้นหาตำแหน่งเรือซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนเรือเช่น อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณจากดาวเทียมจีพีเอส เป็นต้น ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้ระบบจีเอ็มดีเอสเอส สามารถช่วยให้จำนวนเรือที่จะประสบอุบัติภัยในทะเล มีน้อยลง เนื่องจากเรือสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะรู้ข่าวสารข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าตลอดเวลา และหากเรือเกิดประสบเหตุขึ้นก็สามารถส่งสัญญาณแจ้งเหตุอันตราย ขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผ่านระบบและเครือข่ายที่มีสมรรถนะสูงโยงใยทั่วโลก ทำให้เรือหรือหน่วยค้นหากู้ภัยในข่ายทั่วโลกที่อยู่ใกล้เข้าทำการช่วยเหลือได้โดยด่วน ซึ่งจะทำให้ผู้เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุทางเรือลดลงได้อย่างมาก
ขอบเขตพื้นฐานของการสื่อสารระบบ GMDSS กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบการค้นหาและกู้ภัย ให้ผู้มีหน้าที่บนฝั่งคอยตรวจตรา เฝ้าฟัง ประสานงานการช่วยเหลือให้กับหน่วยงานรับผิดชอบในเขตต่างๆทั่วโลก และทำหน้าที่กระจายข่าวสารเพื่อความปลอดภัย เช่น คำเตือนเกี่ยวกับการเดินเรือ ข่าวอุตุนิยมวิทยา ข่าวฉุกเฉินต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่เรือเดินทะเล โดยแบ่งพื้นที่การสื่อสารในระบบจีเอ็มดีเอสเอสออกเป็น ๔ พื้นที่ อาศัยการแพร่กระจายของคลื่นวิทยุเป็นตัวกำหนดเพื่อให้เรือเดินทะเลได้ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารตามที่ได้จดทะเบียนเขตการเดินเรือไว้ได้อย่างเหมาะสมและประหยัด ดังนี้
- พื้นที่ A1 (Sea area 1) หมายถึงพื้นที่ในทะเลที่อยู่ในรัศมีของคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงมากจากสถานีบนฝั่งประมาณ 50 ไมล์ทะเล
- พื้นที่ A2 (Sea area 2) หมายถึงพื้นที่ในทะเลที่อยู่ในรัศมีของคลื่นวิทยุย่านความถี่ปานกลางจากสถานีบนฝั่งประมาณ 100 – 150 ไมล์ทะเล
- พื้นที่ A3 (Sea area 3) หมายถึงพื้นที่ในทะเลที่อยู่ในรัศมีของคลื่นวิทยุย่านความถี่สูง จากสถานีบนฝั่ง เกินกว่า 150 ไมล์ทะเล และต้องอยู่ในรัศมีครอบคลุมของดาวเทียมทางทะเล ระหว่างประเทศ ระหว่างเส้นละติจูด (Latitude) 76 องศาเหนือ ถึงเส้นละติจูด 76 องศาใต้
- พื้นที่ A4 (Sea area 4) หมายถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ A1 พื้นที่ A2 และพื้นที่ A3 ซึ่งก็คือบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
รายการและจำนวนของเครื่องมือสื่อสารระบบ GMDSS ของเรือเดินทะเลในแต่ละพื้นที่ที่กำหนด
- เรือเดินทะเลทุกลำที่อยู่ในทะเลพื้นที่ A1
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF พร้อมด้วยระบบ DSC จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว NAVTEX Receiver จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม E.P.I.R.B จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณเรดาร์ Radar Transponder ( เรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส จำนวน 1 เครื่อง , เรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 2 เครื่อง )
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF กันน้ำได้แบบมือถือตามกฎ GMDSSจำนวน 3 เครื่อง
- เครื่องรับวิทยุเฝ้าฟังย่านความถี่ 2182 kHz R/T Watch Receiver (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เรือเดินทะเลทุกลำที่อยู่ในทะเลพื้นที่ A2
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF พร้อมด้วยระบบ DSC จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว NAVTEX Receiver จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม E.P.I.R.B จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณเรดาร์ Radar Transponder ( เรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส จำนวน 1 เครื่อง , เรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 2 เครื่อง )
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF กันน้ำได้แบบมือถือตามกฎ GMDSS จำนวน 3 เครื่อง
- เครื่องรับวิทยุเฝ้าฟังย่านความถี่ 2182 kHz R/T Watch Receiver (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องส่งสัญญาณเตือน (R/T Alarm Generator) (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย MF พร้อมด้วยระบบ DSC และ NBDP (Telex) Functions จำนวน 1 เครื่อง
- เรือเดินทะเลทุกลำที่อยู่ในทะเลพื้นที่ A3
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF พร้อมด้วยระบบ DSC จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว NAVTEX Receiver จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม E.P.I.R.B จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณเรดาร์ Radar Transponder ( เรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส จำนวน 1 เครื่อง , เรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 2 เครื่อง )
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF กันน้ำได้แบบมือถือตามกฎ GMDSSจำนวน 3 เครื่อง
- เครื่องรับวิทยุเฝ้าฟังย่านความถี่ 2182 kHz R/T Watch Receiver (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องส่งสัญญาณเตือน (R/T Alarm Generator) (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย MF พร้อมด้วยระบบ DSC และ NBDP (Telex) Functions และเครื่องพิมพ์ข่าวพร้อม Modem จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว MSI (Marine Safety Information) หรือ EGC receiver ข่าย HF (อาจติดตั้งรวมอยู่ในข้อ 8) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องสื่อสารผ่านดาวเทียม INMARSAT -C จำนวน 1 เครื่อง
- เรือเดินทะเลทุกลำที่อยู่ในทะเลพื้นที่ A4
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF พร้อมด้วยระบบ DSC จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว NAVTEX Receiver จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม E.P.I.R.B จำนวน 1 เครื่อง
- กระโจมส่งสัญญาณเรดาร์ Radar Transponder ( เรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส จำนวน 1 เครื่อง , เรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 2 เครื่อง )
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย VHF กันน้ำได้แบบมือถือตามกฎ GMDSS จำนวน 3 เครื่อง
- เครื่องรับวิทยุเฝ้าฟังย่านความถี่ 2182 kHz R/T Watch Receiver (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องส่งสัญญาณเตือน (R/T Alarm Generator) (บังคับติดตั้งจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือตามประกาศของ IMO) จำนวน 1 เครื่อง
- เครื่องรับส่งวิทยุข่าย MF พร้อมด้วยระบบ DSC และ NBDP (Telex) Functions และเครื่องพิมพ์ข่าวพร้อม Modem จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องรับข่าว MSI (Marine Safety Information) หรือ EGC receiver ข่าย HF (อาจติดตั้งรวมอยู่ในข้อ 8) จำนวน 2 เครื่อง
ระบบสื่อสารสำหรับการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนภัย การสื่อสารในระบบจีเอ็มดีเอสเอสมีการใช้ระบบสื่อสารดาวเทียม(Satellite)และระบบสื่อสารภาคพื้น(Terrestrial)เป็นองค์ประกอบในการสื่อสารดังนี้
- ระบบสื่อสารดาวเทียม (Satellite)
- ดาวเทียมอินมาร์แซท (INMARSAT) ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า(Geostationary)มีทั้งหมด 4 ดวง ตั้งชื่อตามมหาสมุทรต่างๆ คือ มหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันตก มหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันออก มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ความสูงประมาณ 35,700 กิโลเมตร เหนือเส้นศูนย์สูตร ใช้ความถี่ 1.5 และ 1.6 กิกะเฮิรตซ์(GHz) ในการสื่อสารสองทาง(Two-way) ทั้งในรูปแบบของ โทรพิมพ์ โทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูล และระบบโทรศัพท์ โดยมีสถานีภาคพื้นทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวไปยังปลายทางเช่น อุปกรณ์อินมาร์แซทบี(Inmarsat–B) อุปกรณ์อินมาร์แซทซี(Inmarsat – c) และอุปกรณ์อินมาร์แซทเอฟ(Inmarsat – F)
- ดาวเทียมคอสปาสซาร์แซท (COSPAS-SARSAT) ใช้ในการค้นหาตำแหน่งของเครื่องส่งสัญญาณวิทยุบอกตำบลที่ประสบภัย (Emergency Position Indicating Radio Beacon) ความถี่ 406 เมกกะเฮิรตซ์ ส่งสัญญาณเมื่อประสบภัยโดยการใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ผสมผสานกับดาวเทียมค้างฟ้า รับสัญญาณเพื่อคำนวณหาตำแหน่งพื้นที่บนพื้นโลก
- ระบบสื่อสารภาคพื้นดิน (Terrestrial) การสื่อสารภาคพื้นดินได้แบ่งระยะของการสื่อสารออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- การสื่อสารระยะไกล ใช้คลื่นวิทยุในย่านความถี่สูง เพื่อส่งสัญญาณไปยังสถานีวิทยุบนฝั่งเมื่อประสบภัย ด้วยเครื่องมือสื่อสารระบบดีเอสซี เพื่อให้ทราบถึงผู้ที่ประสบภัย ตำบลที่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำหนดให้ใช้ความถี่ 4207.5 / 6,312 / 8,414.5 / 12,577 / 16,804.5 กิโลเฮิรตซ์ เพื่อรับส่งสัญญาณประสบภัย รวมถึงระบบวิทยุโทรศัพท์และวิทยุโทรพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง
- การสื่อสารระยะปานกลาง โดยใช้คลื่นวิทยุในย่านความถี่ปานกลาง เพื่อส่งสัญญาณไปยังสถานีวิทยุบนฝั่งเมื่อประสบภัย ด้วยเครื่องมือสื่อสารระบบดีเอสซี เพื่อให้ทราบถึงผู้ที่ประสบภัย ตำบลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำหนดให้ใช้ความถี่ 2,187.5 กิโลเฮิรตซ์ เพื่อรับส่งสัญญาณประสบภัยรวมถึงระบบวิทยุโทรศัพท์ความถี่ 2,182 กิโลเฮิรตซ์
- การสื่อสารระยะใกล้ โดยใช้คลื่นวิทยุในย่านความถี่สูงมาก เพื่อส่งสัญญาณไปยังสถานีวิทยุบนฝั่งเมื่อประสบภัย ด้วยเครื่องมือสื่อสารระบบดีเอสซี เพื่อให้ทราบถึงผู้ที่ประสบภัย ตำบลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำหนดให้ใช้ช่อง 70 ความถี่ 156.525 เมกกะเฮิรตซ์ เพื่อรับส่งสัญญาณประสบภัย รวมถึงระบบวิทยุโทรศัพท์ช่อง 16 ความถี่ 156.80 เมกกะเฮิรตซ์
- อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการสื่อสารภาคพื้นดิน
- เครื่องรับข่าวในระบบโทรพิมพ์ (Navigation Telex: NAVTEX) เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ เช่น ข่าวคำเตือนในการเดินเรือ ข่าวอุตุนิยมวิทยา ข่าวการค้นหาผู้ประสบภัย หรือข่าวด่วนข่าวฉุกเฉินต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ โดยมีรัศมีในการรับข่าวห่างจากฝั่งประมาณ 200 – 400 ไมล์ทะเล จาก 16 เขตทะเล ทั่วโลก
- เครื่องส่งสัญญาณตอบสัญญาณเรดาร์ (Search and Rescue Radar Transponder: SART) ความถี่ 9,200 – 9,500 เมกกะเฮิรตซ์ ใช้นำทางในการค้นหาผู้รอดชีวิตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะปรากฏสัญญาณในจอเรดาร์เป็นรูป 12 จุด ในระยะหวังผลไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล
- เครื่องส่งข้อมูลของเรือโดยอัตโนมัติ (Automatic Identification System: AIS) ส่งข้อมูลระบบวิทยุย่านความถี่สูงด้วยความถี่ 161.975 ถึง 162.025 เมกกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย รหัสประจำเรือ ตำบลที่อยู่ เข็ม ความเร็วของเรือและข้อมูลที่จำเป็นเบื้องต้น เพื่อให้เรือที่เข้ามาใกล้ได้ทราบข้อมูล เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
- อุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Ship Security Alert System: SSAS) ใช้ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมอินมาร์แซท หากเรือถูกยึดครองจากผู้ก่อการร้ายหรือก่อวินาศกรรม โดยเรือทุกลำ ต้องติดตั้งอุปกรณ์อยู่ภายในสะพานเดินเรือหรือห้องควบคุมเรือที่อยู่บนดาดฟ้าและจะแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
การทำงานของระบบการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนภัยทางทะเล มีลักษณะการทำงานหลัก ๆ ดังนี้
- การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Alerting) การส่งสัญญาณด้วยการสื่อสารระบบใดๆในระยะไกลไปยังศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผ่านสถานีบนฝั่ง(Coast Radio Station) เพื่อให้ได้ทราบถึงผู้ประสบภัย(Identification) ตำแหน่งของผู้ประสบภัย (Position) และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Nature of Distress)
- การสื่อสารของหน่วยค้นหาและกู้ภัย (SAR Co-ordinating) การสื่อสารเรือหรืออากาศยาน ที่ได้รับมอบหมายให้ค้นหาผู้ประสบภัย เมื่อได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ ตามอนุสัญญาการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- การใช้อุปกรณ์สื่อสาร (On – Screen Communication) การใช้อุปกรณ์สื่อสารในย่านความถี่ปานกลางและความถี่สูงมากของหน่วยค้นหาและกู้ภัยเพื่อใช้ติดต่อกับผู้ประสบภัย
- การบอกตำแหน่ง (Locating) การสื่อสารเพื่อบอกตำแหน่งเมื่อประสบภัย เพื่อให้ผู้ที่ค้นหาได้ทราบตำแหน่งเพื่อที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- การกระจายข่าวสารเพื่อความปลอดภัย (Maritime Safety Information) การกระจายข่าวสารเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ทางระบบเครื่องรับข่าวในระบบโทรพิมพ์ ความถี่ 518 กิโลเฮิรตซ์ ระบบส่งข้อความโทรเลขผ่านคลื่นวิทยุ (Radiotelex) และระบบดาวเทียมอินมาร์แซทเครือข่ายเพื่อความปลอดภัย (SafetyNet)
- การสื่อสารทั่วไป (General Communication) การสื่อสารระหว่างสถานีเรือและสถานีบนฝั่ง ในด้านธุรกิจและอื่นๆ
- การสื่อสารระหว่างสถานีเรือ (Bridge to Bridge) การสื่อสารระหว่างสถานีเรือด้วยกันเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ระบบจีเอ็มดีเอสเอส จะมีหมายเลขรหัสประจำสถานี ( Maritime Mobile Service Identity ) ประกอบด้วยตัวเลข ๙ ตัว ซึ่งจะมีหน่วยงาน ในแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนดรหัสให้เป็นไปตามข้อบังคับวิทยุสากล
แหล่งอ้างอิง
- http://thaitelecomkm.org
- http://www.marinerthai.net