⇑ ปัญหาเขตแดนทางทะเลของไทย

เขตทับซ้อนทางทะเล เกิดขึ้นจากพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศเขตไหล่ทวีปทางทะเลของแต่ละประเทศชายฝั่งเป็นสำคัญ ในทางกฎหมายนั้น เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 โดยที่กฎหมายทางทะเลนั้น ให้สิทธิรัฐชายฝั่งในการประกาศเขตไหล่ทวีปจากขอบนอกของทะเลอาณาเขตไปจนถึงแนวน้ำลึก 200 เมตร ซึ่งอ่าวไทยมีความลึกที่สุดประมาณ 82 เมตรและไม่กว้างนัก จุดที่กว้างที่สุดคือ 206 ไมล์ทะเล ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่อยู่ชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปออกมา ก็ย่อมทำให้เขตที่ประกาศนั้นทับซ้อนกัน

พื้นที่ทางทะเลที่ไทยอ้างสิทธิ์
ประเทศไทยได้ประกาศทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เมื่อปี พ.ศ. 2509 และประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยยึดเอาหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยและกัมพูชา หลักสุดท้ายคือหลัก 73 ที่ตั้งอยู่ที่แหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด แล้วลากเป็นเส้นตรงจาก ละติจูดที่ 11 องศา 39 ลิปดาเหนือ ตัดกับ ลองติจูด 102 องศา 55 ลิปดาตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังจุดที่เส้น ละติจูดที่ 9 องศา 48 ลิปดา 5 ฟิลิปดาเหนือ ตัดกับเส้น ลองติจูด 101องศา 46 ลิปดา 5 ฟิลิปดา ตะวันออก พิจารณาตามภูมิประเทศจริงคือ ลากจากหลักเขตสุดท้าย เฉียงตรงลงไประหว่างเกาะกูดกับเกาะกงเรื่อยไปจนถึงกลางอ่าวไทยวกลงใต้ ไปชนกับที่สิ้นสุดเขตแดนทางบกไทย – มาเลเซีย และนอกจากนี้ในปี 2524 ประเทศไทยประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานของทะเลอาณาเขต ดังแสดงตามเส้นสีแดงในรูป

พื้นที่ทางทะเลที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์
กัมพูชา ประกาศเขตไหล่ทวีปก่อนประเทศไทย คือประกาศในปี พ.ศ. 2515 ด้วยเริ่มลากจากหลักเขตทางบกหลักที่ 73 แต่เส้นของกัมพูชานั้นลากเป็นเส้นตรงไปทางตะวันตก ผ่านกึ่งกลาง แล้วหักเข้าฝั่งบริเวณชายแดนเวียดนามกัมพูชา ดังแสดงตามเส้นประสีน้ำเงินในรูป



แหล่งอ้างอิง

  • https://www.tcijthai.com/