เขตทับซ้อนทางทะเล เกิดขึ้นจากพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศเขตไหล่ทวีปทางทะเลของแต่ละประเทศชายฝั่งเป็นสำคัญ ในทางกฎหมายนั้น เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 โดยที่กฎหมายทางทะเลนั้น ให้สิทธิรัฐชายฝั่งในการประกาศเขตไหล่ทวีปจากขอบนอกของทะเลอาณาเขตไปจนถึงแนวน้ำลึก 200 เมตร ซึ่งอ่าวไทยมีความลึกที่สุดประมาณ 82 เมตรและไม่กว้างนัก จุดที่กว้างที่สุดคือ 206 ไมล์ทะเล ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่อยู่ชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปออกมา ก็ย่อมทำให้เขตที่ประกาศนั้นทับซ้อนกัน
ไทยกับมาเลเซียได้เริ่มเจรจาปัญหาเขตแดนทางทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยเริ่มในฝั่งทะเลอันดามัน โดยบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อ พ.ศ. 2513 สำหรับปัญหาเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย เริ่มมีการเจรจาช่วงปี พ.ศ. 2515 และสามารถทำความตกลงกันได้ประมาณ 31 ไมล์ทะเล เป็นบริเวณจากปากแม่น้ำโกลก ออกไป 12 ไมล์ทะเล ถึงขอบนอกทะเลอาณาเขตของทั้งสองประเทศ และต่อออกไปอีก 19 ไมล์ทะเลในเขตไหล่ทวีป ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 มีการเจรจาต่อ โดยทั้งสองฝ่ายเสนอเส้นเขตแดนที่แตกต่างกัน เกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในเขตไหล่ทวีปประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีการเจรจาขึ้นที่เชียงใหม่ให้มีความตกลงแก้ปัญหาชั่วคราวด้วยการจัดตั้งองค์กรแสวงประโยชน์ร่วมในพื้นที่ทับซ้อนจนกว่าจะตกลงในเรื่องเขตแดนกันได้ โดยเรียกการตกลงนี้ว่า MOU เชียงใหม่ 2522 ซึ่งเป็นที่มาของพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย – มาเลเซีย หรือ Malaysia-Thailand Joint Development Area : JDA เพื่อแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนดังกล่าว โดยมีอายุ 50 ปี
แหล่งอ้างอิง
- นาวิกศาสตร์ (พลเรือเอก ถนอม เจริญลาภ)
- https://www.ttm-jda.com/
- https://diveshop.in.th/