Rate this place

⇑ ปัญหาเขตแดนทางทะเลของไทย

การแบ่งเขตทางทะเลนอกชายฝั่งของทั้งสองประเทศไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาบริเวณใกล้ฝั่ง เริ่มตั้งแต่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์ไปจนถึงแม่น้ำกระบุรี เนื่องจากเกิดความไม่ชัดเจนของสนธิสัญญาระหว่าง ไทย – อังกฤษ ที่ไม่ได้ระบุพิกัดตำบลที่และชื่อเกาะ ทำให้เกิดปัญหาการอ้างสิทธิ์เหนือ เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก

กรณีพิพาททางทะเลระหว่างไทยและเมียนมา เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะหลาม – เกาะคัน – เกาะขึ้นก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากจั่นในฝั่งทะเลอันดามัน โดยเกาะหลามมีพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ เกาะคันมีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ และเกาะขี้นกมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เกาะทั้งสามตั้งอยู่ท่ามกลางเกาะวิกตอเรียของเมียนมา และเกาะตราครุฑและเกาะสินไหของไทย รวมทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเล ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำปากจั่นจนถึงบริเวณทะเลเปิดระหว่างเกาะสุรินทร์ และเกาะคริสตีความยาวประมาณ 50 ไมล์ทะเล

ข้อพิพาททั้งสองมีสาเหตุสืบเนื่องมาจาก สมัยอังกฤษเข้ามาปกครองเมียนมา อังกฤษได้เห็นว่าเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมเจรจาและได้ทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องกำหนดเขตแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับเทนเนสเซอริม(ชื่อมณฑลของอังกฤษ) เมื่อ ค.ศ. 1868 เพื่อแบ่งเขตระหว่างประเทศ ตั้งแต่แม่น้ำเมยจนถึงแม่น้ำปากจั่น แต่เกาะต่าง ๆ มิได้ตกลงแบ่งปันกัน และต่อมาทั้งสองประเทศได้เจรจาแบ่งเกาะต่าง ๆ โดย หมู่เกาะรังนก เกาะย่านเชือก และเกาะวิกตอร์เรีย เป็นของอังกฤษ ให้เกาะช้าง เกาะพยาม เป็นของไทย แต่เกาพอื่น ๆ ยังไม่สามารถตกลงกันได้

ต่อมาเมื่อเมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษ จึงมีปัญหาในการแย่งชิงเกาะทั้งสามที่เหลือ ทางฝั่งเมียนมาอ้างแผนที่เดินเรือของอังกฤษปี ค.ศ. 1948 และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา ค.ศ. 1868 ส่วนไทยอ้างพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ค.ศ. 1891 ที่ยืนยันว่าปลายเขตแดนของไทยไปสิ้นสุดที่เกาะหลามและเกาะคัน และแผนที่กรมแผนที่ทหารที่จัดทำเมื่อ ค.ศ. 1958



แหล่งอ้างอิง

  • วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 14 ฉบับที่ 1
  • นาวิกาธิปัตย์สาร (นาวาเอก ภุชงค์ ประดิษฐ์ธีระ)