เขตทับซ้อนทางทะเล เกิดขึ้นจากพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศเขตไหล่ทวีปทางทะเลของแต่ละประเทศชายฝั่งเป็นสำคัญ ในทางกฎหมายนั้น เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 โดยที่กฎหมายทางทะเลนั้น ให้สิทธิรัฐชายฝั่งในการประกาศเขตไหล่ทวีปจากขอบนอกของทะเลอาณาเขตไปจนถึงแนวน้ำลึก 200 เมตร ซึ่งอ่าวไทยมีความลึกที่สุดประมาณ 82 เมตรและไม่กว้างนัก จุดที่กว้างที่สุดคือ 206 ไมล์ทะเล ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่อยู่ชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปออกมา ก็ย่อมทำให้เขตที่ประกาศนั้นทับซ้อนกัน
เวียดนามใต้ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปในปี พ.ศ. 2514 (ในภาพเส้นสีม่วง) แม้จะมีการรวมประเทศแล้วเมื่อ พ.ศ. 2518 รัฐบาลเวียดนามยังคงยึดถือไหล่ทวีปตามประกาศเดิม ต่อมาประเทศไทยประกาศเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2516 (ในภาพเส้นสีเหลือง) ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันขึ้น ประมาณ 6,000 ตารางกิโลเมตร ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเขตไหล่ทวีปของไทยกับเวียดนาม (ใต้) ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2535 กับรัฐบาลหลังการรวมชาติ จนประสบความสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) โดยมีการเจรจาทั้งหมด 9 ครั้งใน 5 ปี
แหล่งอ้างอิง
- นาวิกศาสตร์ (พลเรือเอก ถนอม เจริญลาภ)
- นาวิกาธิปัตย์สาร (นาวาเอก ภุชงค์ ประดิษฐ์ธีระ)