Rate this place

⇧ เกร็ดความรู้ชาวเรือ

พิธีพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

กองทัพเรือ มีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทย นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยนั้น มีเพียงทหารเหล่าเดียว มิได้แบ่งแยกออกเป็น กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบก ก็เรียกว่า “ทัพบก” หากยาตราทัพไปทางเรือ ก็เรียกว่า “ทัพเรือ” การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชา กองทัพไทยในยามปกติสมัยนั้น ยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหาร “ทัพบก” และ”ทัพเรือ” รวม ๆ กันไป ในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงคราม ภายในอาณาจักร หรือ นอกอาณาจักรก็มีความจำเป็น ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เครื่องศาสตราวุธเรือ นอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก ๆ เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำแล้วจึงยกทัพต่อไปบนทางบก เรือรบที่เป็นพาหนะของกองทัพไทยสมัยโบราณ มี 2 ประเภทด้วยกันคือ เรือรบในแม่น้ำและเรือรบในทะเล เมื่อสันนิษฐานจากลักษณะที่ตั้งของราชธานี ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบและมีแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางในการคมนาคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำ ในการบริโภคและการเกษตรกรรมแล้ว เรือรบในแม่น้ำคงมีมาก่อนเรือรบในทะเล เพราะสงครามของไทยในระยะแรก ๆ จะเป็นการทำสงครามในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือเป็นการทำสงครามกับพม่า เป็นส่วนมาก


เรือรบในแม่น้ำ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2076 – 2089) ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยคืนจากพม่า ใน พ.ศ. 2081 ต่อจากนั้นไทยก็ได้ทำศึกสงครามกับพม่ามาโดยตลอด เรือรบในแม่น้ำในสมัยนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะใช้ทำศึกสงครามมากกว่าเรือรบในทางทะเล เรือรบในแม่น้ำเริ่มต้นมาจากเรือพายเรือแจวก่อน เท่าที่พบหลักฐานไทยได้ใช้เรือรบประเภทเรือแซ เป็นเรือรบในแม่น้ำเพื่อใช้ในการลำเลียงทหารและเสบียงอาหารมาช้านาน โดยใช้พาย 20 พาย เป็นกำลังขับเคลื่อน ให้เรือแล่นไป

รูปศีรษะสัตว์ประกอบเรือรบ

ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2091 – พ.ศ. 2111) ได้ทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง พระองค์ทรงคิดดัดแปลง เรือแซเป็นเรือไชยเพื่อใช้ในการลำเลียงทหารได้มากขึ้น เนื่องจากเรือแซที่ใช้เป็นพาหนะมาแต่เดิม ลำเลียงทหารและเสบียงอาหารได้น้อย จึงไม่เหมาะที่จะใช้เป็นพาหนะในการทำสงคราม ในครั้งนั้นจึงได้มีการเปลี่ยน หน้าที่ของเรือแซโดยใช้เป็นพาหนะในการลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องศาสตราวุธ สำหรับเรือไชยที่ทรงดัดแปลงใหม่นั้นเป็นเรือที่มีลักษณะลำเรือยาวใช้ฝีพายประมาณ 60 – 70 คน แล่นได้รวดเร็วกว่าเรือแซ ปรากฏว่าในคราวที่พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้นำปืนใหญ่ไปติดตั้งที่เรือไชยออกแล่นยิงค่ายพม่าจนพม่าต้องถอยทัพกลับไป ในเวลาเดียวกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงคิดสร้าง เรือรบรูปศีรษะสัตว์เพื่อใช้ทำสงครามขึ้นอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือไชยโดยทำหัวเรือให้กว้างขึ้นเพื่อให้สามารถติดตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ ต่อมายังได้มีการคิดสร้างเรือรบในแม่น้ำขึ้นอีกประเภทหนึ่ง คือ เรือกราบ แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใดสร้างขึ้น เรือกราบที่คิดสร้างขึ้นใหม่นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือไชยแต่แล่นได้รวดเร็วกว่าเรือไชย

เรือรบในทะเล สำหรับเรือรบในทะเล ในสมัยแรกยังไม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะเท่าเรือรบในแม่น้ำ เนื่องจากลักษณะที่ตั้งตัวราชธานี อยู่ไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา ความจำเป็นในการใช้เรือจึงมีน้อยกว่าในยามปกติ ก็นำเอาเรือที่ใช้ในทะเลมาเป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายยังหัวเมืองชายทะเลต่าง ๆ และประเทศข้างเคียง ครั้นเมื่อบ้านเมืองมีศึกสงคราม ก็นำเรือเหล่านี้มาติดอาวุธปืนใหญ่เพื่อใช้ทำสงคราม แต่ครั้งโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยได้เริ่มใช้เรือรบในทะเลในการทำศึกสงครามบ้างแล้ว เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. 2135 และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองบันทายมาศ เมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นต้น ส่วนเรือรบในทะเลจะมีเรือประเภทใดบ้างยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเรือใบหลายประเภทด้วยกัน ถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ส่วนมากจะเป็นเรือสำเภาแบบจีน เรือกำปั่นแปลง แต่ถ้าเป็นเรือขนาดย่อมลงมาจะเป็นเรือสำปั้นแปลง เรือแบบญวน เรือฉลอม เรือเป็ดทะเล และ เรือแบบแขก เป็นต้น

เรือกำปั่นไฟสมัยรัชกาลที่ 3

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ราชธานีตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น จึงทำให้มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เรือรบในทะเลของไทย แต่เดิมซึ่งนิยมสร้างเรือแบบสำเภาจีน เริ่มเปลี่ยนแปลงหันมานิยมสร้างเรือกำปั่นใบแบบยุโรปมากขึ้น เนื่องจากเรือกำปั่นใบแบบยุโรปสามารถสร้างให้มีขนาดใหญ่ มีใบรับลมมากกว่าเรือสำเภาจีน ทำให้สามารถบังคับเรือ ได้ง่ายและแล่นได้เร็วกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกรงว่าต่อไปอนุชนรุ่นหลังจะไม่รู้จักเรือสำเภาจีนที่เคยมีความสำคัญมาในอดีต จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือสำเภาจีนไว้ที่วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร เรือรบในทะเลได้พัฒนาจากเรือสำเภาจีนมาใช้เรือกำปั่นแบบใช้ใบแล้ว ต่อมาเมื่อได้มีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำขึ้นในยุโรป และได้เริ่มนำมาใช้กับเรือ เรือรบในทะเลของไทยก็ได้เปลี่ยน การขับเคลื่อนเรือจากใช้ใบมาเป็นเรือแบบเรือกลไฟ ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มจากเรือใช้จักรข้างก่อน แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้จักรท้ายได้พัฒนาการขับเคลื่อนของเรือจากเครื่องจักรไอน้ำ มาเป็นเครื่องยนต์ดีเซล จากเครื่องยนต์ดีเซลก็พัฒนามาใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์ไบน์ผสมแก๊สและไอน้ำมาถึงปัจจุบัน ส่วนตัวเรือแต่ก่อนใช้ไม้สร้างก็เปลี่ยนมาสร้างด้วยเหล็กเช่นกัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทหารเรือมีอยู่ 2 แห่งคือ ทหารเรือวังหน้าขึ้นอยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งหนึ่ง กับทหารมะรีนสำหรับเรือรบขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม อีกแห่งหนึ่ง ในสมัยต้นของรัชกาลที่ 5 การปกครองประเทศยังเป็นระบบจตุสดมภ์อยู่ มีกรมพระกลาโหมว่าการฝ่ายทหาร ในขณะนั้นกิจการ ฝ่ายทหารเรือแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนหนึ่งขึ้นในบังคับบัญชาของสมุหพระกลาโหมเรียกว่า กรมอรสุมพล อีกส่วนหนึ่งขึ้นในบังคับบัญชาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เรียกว่า ทหารเรือฝ่ายพระราชวังบวร หรือทหารเรือวังหน้า กรมอรสุมพลมีหน่วยขึ้นในสังกัดคือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม ทหารเรือวังหน้า มีหน่วยขึ้นในสังกัดคือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และกองทะเล บางทีเรียกว่ากองกะลาสี ใน พ.ศ. 2415 ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวได้เสด็จกลับจากการเสด็จประพาสอินเดีย ได้ทรงปรับปรุงหน่วยทหารในกองทัพขึ้นใหม่ โดยแบ่ง ออกเป็น 9 หน่วย ดังนี้ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารรักษาพระองค์ กรมทหารล้อมวัง กรมทหารหน้า กรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารช่าง กรมทหารฝีพาย กรมทหารเรือพระที่นั่ง (เวสาตรี) กรมอรสุมพล

กรมทหารเรือ ใน พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) เสด็จทิวงคต ทหารฝ่ายพระราชวังบวรทั้งทหารบก และทหารเรือได้ถูกยุบเลิกไป จึงทำให้ทหารเรือในขณะนั้น มี 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ กรมเรือพระที่นั่ง ขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนกรมอรสุมพลขึ้นตรงกับสมุหพระกลาโหม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาทั่วไปในกรมทหาร (Commander in chief) ตามโบราณราชประเพณี พร้อมกับประกาศจัดการทหาร เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2430 โดยจัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นในประกาศนี้ ให้รวมบรรดากองทหารบก กองทหารเรือทั้งหมดขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แต่ในระหว่างที่ยังทรงพระเยาว์ให้มีผู้ทำการแทนผู้บังคับบัญชาทั่วไป โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นผู้แทนบังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร และให้รั้งตำแหน่งเจ้าพนักงานใหญ่ผู้จัดการในกรมทหาร สำหรับทหารเรือทรงตั้งนายพลเรือโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือ (Secretary to the Navy) มีหน้าที่ ดังนี้

  1. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อบังคับทหารรเรือ
  2. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนผู้คนในทหารเรือ
  3. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดทหารเรือ
  4. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับเรือรบหลวง
  5. ให้จัดการทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับพาหนะทางเรือ

ต่อมาใน พ.ศ. 2433 ได้มีการยกเลิกประกาศจัดการทหารที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 นั้นเสีย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2433 ขึ้นแทน พระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการฉบับใหม่นี้ให้เรียกกรมยุทธนาธิการเสียใหม่ว่า กระทรวงยุทธนาธิการ (Ministry of War and Marine) มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการทหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้องแก่การทหารบก ทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้ให้ยกเลิกตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหารเรือ และตั้งตำแหน่งใหม่ เรียกว่า จอมพล (จอมทัพ) (Commander in chief) สำหรับบังคับบัญชาราชการในกรมทหารบก กรมทหารเรือ โดยสิทธิ์ขาดโดยพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ดำรงตำแหน่งที่จอมพลนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีตำแหน่งทรงปฏิบัติในหน้าที่จอมพลด้วยเหมือนกัน กรมที่บังคับบัญชาทหารแบ่งออก เป็น 2 กรม คือ กรมทหารบก กรมทหารเรือ ในครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงยุทธนาธิการ พระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็น ผู้บัญชาการทหารบก นายพลโทพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ (Chief Staff of the Navy) สำหรับกรมทหารเรือแบ่งส่วนราชการ ออกเป็น

  1. กรมกลาง
  2. กองบัญชีเงิน
  3. กรมคลังพัสดุทหารเรือ
  4. กองเร่งชำระ
  5. กรมคุกทหารเรือ
  6. กรมอู่
  7. กรมช่างกล
  8. โรงพยาบาลทหารเรือ
  9. ทหารนาวิกโยธิน
  10. เรือรบหลวงและเรือพระที่นั่งประจำการ
พระราชวังเดิม

กองทัพเรือ ใน พ.ศ. 2435 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ และยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ กำหนดให้มีกระทรวง ในราชการ ทั้งหมด 12 กระทรวง กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ปกครองบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหมไม่ต้องเกี่ยวกับการปกครองทางหัวเมืองอย่างแต่ก่อน คงมีหน้าที่เกี่ยวด้วย ราชการทหารอย่างเดียว ใน พ.ศ. 2435 นี้ จึงได้โอนกรมทหารเรือซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงยุทธนาธิการมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม กรมทหารเรือได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนถึง พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม และในวันเดียวกันนั้น ก็ได้ประกาศแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เนื่องจากการป้องกันประเทศเป็นงานใหญ่ที่ทหารบกและทหารเรือจำเป็นต้องร่วมกันคิดอ่านจัดการตามหน้าที่ ที่ประชุมเสนาบดีจึงเห็นสมควรจัดตั้งสภาป้องกันพระราชอาณาจักรขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ระหว่างทหารบกและทหารเรือให้ดำเนินไปได้โดยสอดคล้องร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง สภานี้มีองค์พระประมุขเป็นประธานและโปรดเกล้าฯ ให้เสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการประจำเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พร้อมทั้งจอมพลในและนอกประจำการเป็นสมาชิกสภาแห่งนี้ทุกนาย นับตั้งแต่มีการเลื่อนฐานะกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ ก็ได้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการทหารเรือ อยู่เสมอแต่มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากหลักการเดิม เพียงแต่ว่าส่วนราชการต่างๆ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อราชการบางส่วนมีกิจการเพิ่มขึ้นก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นกรมหรือกอง ตามความสำคัญ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำเป็นผลทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้ฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ อยู่ในภาวะตกต่ำ จำเป็นต้องพิจารณาตัดทอนรายจ่ายของประเทศให้น้อยลง ให้สมดุลกับรายได้เป็นผลทำให้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการเสียใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 โดยทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงทหารเรือกับกระทรวงทหารบกเป็นกระทรวงเดียวกันเสีย กระทรวงที่บังคับบัญชาทั้งทหารบกและทหารเรือร่วมกันนี้ เรียกว่า กระทรวงกลาโหมเหมือนอย่าง แต่ครั้งก่อน ใน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศใหม่ ทางด้านกองทัพเรือก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงทหารเรือได้ลดฐานะเป็นกรมทหารเรือในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศนี้ ได้จัดให้มีคณะกรรมการกลางกลาโหมขึ้น นอกจากนั้นส่วนราชการของทหารเรือบางส่วนซึ่งได้เอาไปรวมกับฝ่ายทหารบก ก็กลับมาสังกัดอยู่ใน กรมทหารเรือตามเดิมอีก กรมต่าง ๆ ของทหารเรือลดฐานะมาเป็นกองทั้งหมด เว้นแต่กรมเสนาธิการทหารเรือ จนกระทั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็น กองทัพเรือ


แหล่งอ้างอิง

  • https://www3.navy.mi.th