สมัยก่อน เรือรบ เรือช่วยรบ ตลอดจนเรือพระที่นั่งที่ใช้ในราชนาวีตัวเรือจะทาสีขาว ปล่องและเสากระโดงทาสีเหลือง ส่วนตัวเรือใต้แนวน้ำจะทาสีแดง มาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2450 สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พานักเรียนนายเรือไปฝึกภาคทางทะเล กับเรือมกุฎราชกุมาร เรือมกุฎราชกุมารได้ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) โดยมีแผนกำหนดแวะจอดเรือตามเมืองท่าชายทะเล นับตั้งแต่ ชุมพร สิงคโปร์ และปัตตาเวีย การฝึกภาคทางทะเลในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ทหารเรือไทยล้วน ไม่มีชาวต่างชาติ คนประจำเรือจะใช้นักเรียนนายเรือเกือบทั้งสิ้น คงมีคนประจำเรือเดิมที่ร่วมเดินทางไปด้วยเพียง 4 นาย ที่รู้เรื่องของใช้ในเรือต่าง ๆ นายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือด้วยพระองค์เองมีนักเรียนนายเรือบุญมี พันธุมนาวิน ขณะเป็นนักเรียนนายเรือชั้น 5 คนเดียวเป็นนายทหารเดินเรือ ส่วนนักเรียนนายเรือชั้น 4 เป็นนายยามเดินเรือ นักเรียนนอกนั้นเป็นนายท้าย และเป็นยามประจำหน้าที่ต่าง ๆ ส่วนนักเรียนนายเรือฝ่ายช่างก็ทำหน้าที่เป็นนายยาม และยามแผนกช่างกล โดยมีเรือเอก บำ สุสาขา เป็นต้นกล และมีเรือเอก ฮั่ง โซติกเสถียร เป็นรองต้นกล เมื่อเรือออกเดินทางจากชุมพร แล้วก็เดินทางต่อไไปจนกระทั่งเรือได้แวะจอดเรือที่สิงคโปร์ ทางสิงคโปร์ได้มีการยิงสลุต และเยี่ยมคำนับตามระเบียบ
ในเวลานั้น เรือมกุฎราชกุมาร ทาสีขาว ซึ่งดูผิดแปลกไปจากเรืออื่น ๆ ทั่วไปในอ่าว ซึ่งล้วนแต่ทาสีหมอกและสีดำเกือบทั้งหมด ดังนั้น นายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จึงทรงให้ทาสีเรือมกุฎราชกุมารเสียใหม่ เป็นสีหมอกตลอดทั้งลำ ซึ่งนับเป็นเรือรบลำแรกที่ทาสีหมอก การออกไปฝึกภาคทะเลในครั้งนั้น นับเป็นการอวดธงครั้งแรก ทำให้นักเรียนได้เห็นเมืองต่างประเทศ พบคลื่นแผ่นดินไหว ทำพิธีข้ามอีเควเตอร์ เห็นเขื่อนกันคลื่น ได้ชมเรือรบต่างประเทศ รับประทานเนื้อม้าเค็ม ขนมปังทะเล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของนักเรียนนายเรือทั้งสิ้น และเป็นการแสดงความสามารถของทหารเรือไทย ในการนำเรือไปในทะเลได้อย่างแท้จริง ครั้นเมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2450 แล้ว ต่อมาเรือทุกลำในราชนาวีก็ได้ทาสีหมอกแทนสีขาว ยกเว้นเรือพระที่นั่งมหาจักรีเพียงลำเดียวเท่านั้นที่ยังคงทาสีขาว
แหล่งอ้างอิง
- https://www.baanjomyut.com