⇧ เกร็ดความรู้ชาวเรือ

ระบบแจ้งเตือนภัยคลื่นสึนามิระบบแรกของโลก ถูกจัดตั้งขึ้นหลังจากอุบัติภัยที่หมู่เกาะฮาวาย ในปี พ.ศ.2489 สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้ง “ศูนย์แจ้งเตือนคลื่นสึนามิแปซิฟิก” (Pacific Tsunami Warning Center) หรือ PTWC โดยมีติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวจำนวน 50 แห่ง รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ระบบทำงานโดยการตรวจจับคลื่นแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (Seismic wave) ซึ่ง เดินทางรวดเร็วกว่าคลื่นสึนามิ 15 เท่า ข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากทุกสถานีถูกนำรวมกันเพื่อพยากรณ์หาตำแหน่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิ เมื่อคลื่นสึนามิถูกตรวจพบ ระบบจะแจ้งเตือนเมืองที่อยู่ชายฝั่ง รวมทั้งประมาณเวลาสถานการณ์ที่คลื่นจะเข้าถึงชายฝั่ง เพื่อที่จะอพยพประชาชนไปอยู่ที่สูง และให้เรือที่จอดอยู่ชายฝั่งเดินทางสู่ท้องทะเลลึก ที่ซึ่งคลื่นสึนาส่งไม่ส่งผลกระทบ อย่างไรก็ตามระบบเตือนภัยนี้ สามารถทำการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น การอพยพผู้คนมักทำได้ไม่ทันท่วงที เนื่องจากคลื่นสึนามิเดินทางเร็วมาก จึงได้มีการพัฒนาระบบที่ดีกว่าขึ้นมา

ระบบเตือนภัย DART คำว่า DART ย่อมาจาก Deep ocean Assessment and Reporting of Tsunamis เป็นระบบเตือนภัยยุคใหม่ ซึ่งพัฒนาโดย องค์การบริหารบรรยากาศและมหาสมุทร (NOAA) ประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยการติดตั้งเซนเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนไว้ที่ท้องมหาสมุทร เซนเซอร์เก็บข้อมูลแผ่นดินไหวและส่งสัญญาน ไปยังทุ่นลอยซึ่งอยู่บนผิวน้ำ เพื่อรีเลย์สัญญาณไปยังดาวเทียม GOES และ ส่งกลับลงบนสถานีภาคพื้นอีกทีหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลที่ได้มาสร้างแบบจำลองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อพยากรณ์แนวโน้มการเกิดคลื่นสึนามิ หากผลการจำลองและวิเคราะห์ว่ามีโอกาสความเป็นไปได้จะเกิดคลื่นยักษ์ ก็จะแจ้งเตือนไปยังศูนย์ชายฝั่ง เพื่อให้ประชาชนและชาวประมงในพื้นที่ รีบอพยพจากบริเวณที่อันตราย


DART หลักๆ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้ เครื่องบันทึกความดันน้ำ (Bottom Pressure Recorder: BPR) ทุ่นลอย (Buoy) และ ดาวเทียมอิริเดียม (Iridium Satellite)

  • เครื่องวัดความดันน้ำ (BRP) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจวัดความดัน เพื่อรายงานผลถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำในบริเวณพื้นสมุทร และนำค่าที่ได้พื่อมาคำนวณหาระดับความสูงของน้ำด้านบนมหาสมุทร เครื่องวัดความดันน้ำสามารถรายงานผลคลื่นที่มีแอมพิจูดเพียง 1 เซนติเมตรได้
  • ทุ่นลอย (Buoy) เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุที่มีความทนทาน ทนการกัดกร่อนจากน้ำทะเล แข็งแรง ทนแดดและไม่เป็นสนิมจากน้ำทะเล เป็นอุปกรณ์ที่ลอยน้ำเพื่อเป็นที่เกาะและเป็นที่ค้ำจุน โดยปกติทุ่นลอยจะมีสายยึดไว้กับพื้นสมุทร เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่และป้องกันการเปลี่ยนตำแหน่งของทุ่น ทุ่นลอยมีหลายชนิด แต่สำหรับการตรวจวัดคลื่นสึนามิ จะใช้ทุ่นลอยประเภททุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ (Tsunami buoy)
  • ดาวเทียมอิริเดียม (Iridium Satellite) เป็นดาวเทียมที่มีวงโคจรสูงจากพื้นผิวโลกไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร ถือว่าเป็นดาวเทียม ที่มีวงครจรต่ำ โดยส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในงานด้านการสื่อสาร เป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นตัวเชื่อมในการส่งผ่านข้อมูล และรายงานผลจากอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดตั้งบริเวณทุ่นลอยสู่ห้องควบคุมหลัก และสั่งการจากห้องควบคุมสู่อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้กลางสมุทร ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลสองทางและเพิ่มประสิทธิภากการรายงานผลแบบ real time เพิ่มมากขึ้น

หลักการทำงาน DART เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องตรวจวัดความดันน้ำ และทุ่นลอยที่บริเวณผิวน้ำ โดยอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้ต้องมีการสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา เครื่องตรวจวัดความดันน้ำ จะคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และส่งข้อมูลไปยังทุ่นลอยในรูปแบบสัญญาณเสียง หลังจากนั้นทุ่นลอยจะส่งข้อมูลไปยังดาวเทียม และดาวเทียมจะทำการส่งข้อมูลต่อไปยังสถานีรับข้อมูล ที่อยู่ภาคพื้นดินในรูปแบบสัญญาณดาวเทียม ข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกนำมาประมวลผ่านโมเดล และแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุสึนามิขึ้น เมื่อทราบการรายงานผลการตรวจวัดสึนามิแล้ว ทางห้องควบคุม จะทำการส่งข้อมูลแจ้งเตือนออกไปสู่ประชาชน โดยผ่านระบบโทรคมนาคมรอบโลก (Global Telecommunications System: GTS) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารระหว่างหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ และข้อมูลด้านการแจ้งเตือนภัยจากสึนามิ และเครือข่ายโอเพ่นแคร์ (Open Exchange for Collaborative Activities in Response to Emergency: OpenCARE) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัย และการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น


แหล่งอ้างอิง

  • http://dpm.nida.ac.th
  • https://mrvop.wordpress.com