ยุทธนาวีที่เกาะช้าง เป็นเหตุการณ์รบทางเรือ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กล่าวคือ ในเดือน กันยายน พ.ศ.2483 ขณะที่ฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมัน ฝรั่งเศสขอให้รัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลได้ตอบฝรั่งเศสไปว่า ไทยยินดีจะรับตกลงตามคำขอของฝรั่งเศส แต่ขอให้ฝรั่งเศสตกลงบางประการ คือ ให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้ถือแนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 คืนให้ไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า ไม่เป็นที่ตกลงกัน
ต่อมาราษฎรไทยได้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนที่เสียไปอย่างหนักและรุนแรงยิ่งขึ้น การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้โดยสันติวิธี ฝรั่งเศสได้โจมตีประเทศไทยก่อน โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ใช้กำลังทหารเพื่อสู้รบกัน ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ สำหรับกำลังทางเรือได้มีการรบกันที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือของไทยและของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศส เริ่มรุกรานประเทศไทย กองทัพเรือได้จัดส่งกำลังทางเรือออกไปป้องกันบริเวณ ตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นชายแดนสุดทางด้านตะวันออก ติดต่อกับเขตอินโดจีนฝรั่งเศส และทำการลำเลียงทหารนาวิกโยธินไปยังจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด โดยจัดให้มีการลาดตระเวนค้นหาข้าศึก เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึกทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย
เหตุการณ์ก่อนการรบ ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2484 กองทัพเรือได้จัดกำลังทางเรือ 1 หมวด ในบังคับบัญชาของนายนาวาโทหลวงพร้อม วีรพันธุ์ ไปปฏิบัติการอยู่บริเวณเกาะช้าง ประกอบด้วยเรือต่างๆ ดังนี้
- เรือหลวงธนบุรี เรือปืนยามฝั่ง ระวางขับน้ำ 2,200 ตัน มีนายนาวาโทหลวงพร้อม วีรพันธุ์ เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือหลวงสงขลา เรือตอร์ปิโด ระวางขับน้ำ 470 ตัน มีนายนาวาตรีชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือหลวงชลบุรี เรือตอร์ปิโด รุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา มีนายเรือเอกประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโด รุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา มีนายนาวาตรีใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือหลวงหนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีนายเรือเอกดาวเรือง เพชร์ชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ
- เรือหลวงเทียวอุทก ระวางขับน้ำ 50 ตัน
กำลังทางเรือ 1 หมวด ทำการรักษาการณ์อยู่บริเวณเกาะช้าง หมวดเรือดังกล่าวได้จอดเรือแยกกัน ดังนี้ เรือหลวงสงขลา เรือหลวงระยอง เรือหลวงชลบุรี จอดอยู่ร่วมกัน ด้านใต้เกาะช้าง เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงหนองสาหร่าย เรือหลวงเทียวอุทก จอดอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะง่าม ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2484 ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล ออกทำการลาดตระเวนในบริเวณเกาะช้างและเกาะกูด จังหวัดตราด จำนวน 1 ลำ เกาะเสม็ด ระยอง จำนวน 1 ลำ และ เกาะสีชัง ชลบุรี จำนวน 1 ลำ ในการนี้ ทัพเรือได้สั่งให้เครื่องบินทะเลขึ้นขับไล่ และเช้าวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2484 เวลา 06.00 น. ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล 1 ลำ ทำการลาดตระเวนบริเวณเกาะช้างอีกครั้ง เพื่อที่จะทำลายอาคารที่เกาะง่าม เครื่องบินทะเลลำนี้มีขนาดใหญ่ ปีกชั้นเดียว 2 เครื่องยนต์ ทาสีบรอนซ์ขาว ครั้งแรก เครื่องบินทะเลลำนี้ ได้บินผ่านเกาะง่ามไปทางเหนือ เข้าใจว่าคงไม่เห็นเรือตอร์ปิโดของไทยจอดอยู่บริเวณนี้ ทำให้หวนกลับลงมาทางใต้ จะบินผ่านเกาะง่าม เพื่อที่จะทำลายอาคารที่นั่น เรือหลวงธนบุรี และเรือหลวงหนองสาหร่าย ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะลิ่ม ได้แลเห็นเครื่องบินทะเลลำนี้ แต่มิได้ทำการยิง เพราะอยู่ไกล สุดระยะปืน ก่อนหน้าที่เครื่องบินทะเลข้าศึก จะบินผ่านขึ้นไปทางเหนือ ทหารในเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี กำลังหัดกายบริหารตามตารางการฝึกและปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการตื่นนอน ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันทีของทหารเรือเพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ครั้นเมื่อได้รับรายงานว่า ได้ยินเสียงเครื่องบินข้าศึก ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ทหารเข้าประจำสถานีต่อสู้อากาศยานทันที ในเวลาไม่ถึง 1 นาที ทหารก็เข้าประจำปืน 75 มม. ปืนกล 20 มม. และปืนกล 8 มม. ตลอดจนปืนเล็กยาว พร้อม ต่อมา จึงได้เห็นเครื่องบินทะเลข้าศึก โผล่ออกมาจากเกาะช้าง มุ่งหน้าไปทางใต้ และทิ้งระเบิดจำนวน 2 ลูก ลงอาคารบนเกาะง่าม แต่มิได้ถูกที่หมาย ระเบิดได้ตกลงน้ำระหว่างช่องแหลมเทียนใต้เกาะช้างกับเกาะง่าม ในขณะนั้นปืนต่อสู้อากาศยานและปืนกลของเรือตอร์ปิโดทั้งสองได้ยิงกระหน่ำออกไปในระยะไม่ถึง 2,000 เมตร กระสุนหลายนัดได้ไประเบิดอยู่รอบ ๆ เครื่องบินทะเล เครื่องบินทะเลได้พยายามบินขึ้นหาระดับสูง แต่ปรากฏว่า ถูกกระสุนที่ปีกขวา และตอนหัวมีไฟลุกไหม้ขึ้นทันที และได้บินถลาต่ำลงมาจนหายไปทางทะเลด้านใต้เกาะหวาย ซึ่งในขณะเดียวกับที่ได้ส่งเครื่องบินทะเลออกทำการลาดตระเวน กำลังทางเรือของข้าศึก ก็ได้อาศัยความมืดรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีด้วยกันทั้งหมด 5 ลำ เรือเหล่านี้ แยกออกเป็น 3 หมู่ ดังนี้คือ
- หมู่ที่ 1 ลามอตต์ปิเกต์ ( Lamotte Picquet) เรือลาดตระเวน ระวางขับน้ำ 7,880 ตัน เป็นเรือธง (เรือบัญชาการ) มี นาวาเอกเบรังเยร์ เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทาง ช่องทางด้านใต้ของเกาะหวายและเกาะใบดั้ง
- หมู่ที่ 2 เรือดูมองต์ ดูรวิลล์ (Dumont D’ Urville) เรือสลุป มีนายนาวาเอกตูซาแซงค์ เดอ กิแอฟร์คูรต์ ( CV Toussaint de Quievrecourt) เป็นผู้บังคับการเรือ รวมทั้งเรือในชั้นเดียวกันคือเรืออามิราล ชาร์แบนร์ ระวางขับน้ำ 2,156 ตัน มีนายนาวาโทเลอ คาลเวช์ (CF Le Calvez) เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทางช่องด้านใต้ ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย
- หมู่ที่ 3 เรือมาร์น (Marne) เรือช่วยรบ ระวางขับน้ำ 644 ตัน มีนายนาวาตรีเมร์คาดิเอร์ (CC Mercadier) เป็นผู้บังคับการเรือ และเรือตาฮูร์ (Tahure) เรือช่วยรบ ระวางขับน้ำ 600 ตัน มีนายนาวาตรีมารร์ค (CC Marc) เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้าของเกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือสินค้าติดอาวุธ 1 ลำ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ
เรือลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งเป็นเรือนำ ได้เล่นเข้ามาในระยะ 1,200 เมตร จาก เกาะง่าม และได้ระดมยิงอาคารบนเกาะง่าม เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีได้ทำการยิงต่อสู้ เรือลามอตต์ปิเกต์ จึงได้เปลี่ยนเป้า มาทำการยิงเรือตอร์ปิโด ทั้งสองทันที กำลังเรือฝ่ายไทย ที่เข้าทำการรบมี 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี จอดอยู่ที่บริเวณเกาะลิ่ม ส่วนเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี จอดอยู่ที่อ่าวสลักเพ็ชร กำลังทางเรือฝ่ายข้าศึก ที่เข้าทำการรบ รวมด้วยกัน 7 ลำ เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกต์ ลำเดียวมีระวางขับน้ำ 7,880 ตัน ซึ่งมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือรบของเราทั้ง 3 ลำ รวมกัน นอกจากนั้น ก็มีเรือสลุปอีก 2 ลำ ระวางขับน้ำ ลำละ 2,156 ตัน และเครื่องบินอีก 4 ลำ เมื่อเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่า เราเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนเรือ ระวางขับน้ำ จำนวนปืนหนักและปืนเบา และจำนวนทหารประจำเรือ ฝ่ายเราคงได้เปรียบเฉพาะที่ว่า มีปืนหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น แต่เสียเปรียบที่ยิงได้ช้ากว่า
การรบระหว่างเรือหลวงธนบุรีกับเรือลามอตต์ปิเกต์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากได้มีการปะทะกันระหว่างเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีกับเรือรบฝรั่งเศสแล้ว โดยในตอนเช้าตรู่ ของวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2484 ขณะที่เรือหลวงธนบุรี กำลังฝึกหัดศึกษาตามปกติอยู่นั้น ประมาณ 06.12 น. ยามสะพานเดินเรือ ได้เห็นเครื่องบินข้าศึก 1 เครื่อง บินมาทางเกาะกูด ผ่านเกาะกระดาด มาตรงหัวเรือ ทางเรือจึงได้ประจำสถานีรบ แต่ยังมิได้ทำการยิง เพราะอยู่ไกลสุดระยะปืน และเครื่องบินทะเลข้าศึก ได้บินเลี้ยวไปทางเกาะง่าม ตรงบริเวณเรือตอร์ปิโด ทั้ง 2 ลำ ฝ่ายเราจอดอยู่ และทันใดนั้น ทหารทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโดทั้ง 2 ลำ นั้น คือ เรือหลวงสงขลา และ เรือหลวงชลบุรี ทำการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึก โดยทุกคนได้เห็นกลุ่มควันของกระสุน ระเบิดในอากาศ อยู่ล้อมรอบเครื่องบินทะเลและเครื่องบินก็ลับหายไป จากนั้น ทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นอย่างถี่ ยามสะพานเดินเรือได้รายงานว่า เห็นเรือข้าศึกทางใต้เกาะช้าง โดยยามมองตรงช่องระหว่างเกาะช้างกับเกาะไม้ซี้ใหญ่ เรือที่เห็นนี้ คือ ลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งกำลังระดมยิงเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี อยู่นั่นเอง ลักษณะอากาศในขณะนั้นปรากฏว่า มีเมฆในระยะขอบฟ้า พื้นทะเลมีหมอกบาง ๆ ลมตะวันตกเฉียงใต้ กำลัง 1 ไม่มีคลื่น ทัศนวิสัย 6 ไมล์ อากาศค่อนข้างหนาว อุณหภูมิ 27 °C นาวาโทหลวงพร้อม วีรพันธุ์ ผู้บังคับการเรือได้สั่งเดินหน้าเต็มตัว 2 เครื่อง ความเร็ว 14 นอต ถือเข็มประมาณตะวันตกเฉียงใต้ เข้าหาข้าศึก และได้สั่งเตรียมรบกราบขวาที่หมายเรือลาดตระเวนข้าศึก เวลาประมาณ เวลา 06.40 น. ขณะที่เรือหลวงธนบุรี ได้ตั้งลำพร้อม เรือลามอต์ปิเกต์ ก็โผล่จากเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเป็นฝ่ายเริ่มยิงเราก่อนทันที เรือหลวงธนบุรีได้เริ่มยิงตับแรกด้วยป้อมหัวและป้อมท้ายโดยตั้งระยะ 13,000 เมตร ทันใดนั้นเอง กระสุนตับที่ 4 ของเรือลามอต์ปิเกต์ มีนัดหนึ่งเจาะทะลุผ่านห้องโถงนายพลและระเบิดทะลุพื้นหอรบขึ้นมา เป็นเหตุให้ น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธุ์ และทหารในหอรบอีกหลายนายต้องเสียชีวิตในทันที และอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บ สาหัส เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดและถูกไฟลวกตามหน้าและตามตัว กระสุนนัดนี้เอง ได้ทำลายเครื่องติดต่อสั่งการไปยังปืนและเครื่องถือท้ายเรือ เรือซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยความเร็ว 14 นอต ได้แล่นหมุนเป็นวงกว้าง อยู่หลายรอบ ซึ่งในขณะนี้เอง เรือลามอต์ปิเกต์ ได้ระดมยิงเรือหลวงธนบุรี อย่างหนัก ปืนป้อมทั้ง 2 ของเรือหลวงธนบุรีต้องทำการยิงอิสระ โดยอาศัยศูนย์ข้างและศูนย์ระยะที่หอกลาง อย่างไรก็ตามปรากฏว่า เรือลามอต์ปิเกต์ ได้ถูกกระสุนปืนจากเรือหลวงธนบุรีเช่นกัน โดยมีแสงไฟจากเปลวระเบิด และควันเพลิงพุ่งขึ้นบริเวณตอนกลางลำ จนจำต้องล่าถอยมารวมกำลังกับหมู่เรือฝรั่งเศสอีก 4 ลำ ทางตะวันตกของเกาะเหลาใน และแล่นหนีไปในที่สุด เมื่อเรือของฝรั่งเศส ได้ไปจากสนามรบหมดแล้ว ก็ปรากฏว่า ได้มีเครื่องบินลำหนึ่ง บินมาทางหัวเรือและดำทิ้งระเบิด ระยะต่ำ จำนวน 2 ลูก ลูกระเบิดตกบนดาดฟ้าเรือโบทหลังห้องครัวทหาร ทำให้ทหารตายอีก 3 นาย ทางเรือไม่ได้ยิงต่อสู้ประการใด เพราะเครื่องบินลำนั้นมีเครื่องหมายไทยติดอยู่ (เครื่องบินกองทัพอากาศ)เวลา 03.30 น. เรือหลวงธนบุรี แล่นไปทางแหลมน้ำ ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดิน ต้นเรือ ( นายทหารอาวุโสที่สองรองจากผู้บังคับการเรือ ) พาเรือมาทางแหลมงอบ เรือเอียงทางกราบขวาและต่อมาก็หยุดแล่น เรือหลวงช้างได้เข้าช่วยดับไฟและจูงเรือธนบุรีไปจนถึงหน้าแหลมงอบ เพื่อเกยตื้น และต้นเรือได้สั่งสละเรือใหญ่ เมื่อเวลา 11.00 น. ต่อมาเวลาประมาณ 16.40 น. กราบเรือทางขวาก็เริ่มตะแคง เอนลงมากขึ้นตามลำดับ เสาทั้งสองเอนลงน้ำ กราบซ้ายและกระดูกงูกันโครงโผล่อยู่พ้นน้ำ
ผลการรบ
- ฝ่ายไทยเสียเรือรบไป 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ทหารเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 36 นาย เป็นนายทหาร 2 นาย พันจ่า จ่า พลทหารและพลเรือ 34 นาย แบ่งเป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี 20 นาย (รวมนาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีด้วย) เรือหลวงสงขลา 14 นาย และเรือหลวงชลบุรี 2 นาย เฉพาะเรือหลวงธนบุรีนั้น ต่อมากองทัพเรือไทยได้กู้ขึ้นมาเพื่อทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาจึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี บริเวณโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และได้กำหนดให้ วันที่ 17 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ” นอกจากนี้ ทางจังหวัดตราด ได้จัดงานวันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง ขึ้นเช่นเดียวกัน โดยจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2531 ณ บริเวณอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง และพิธีลอยพวงมาลา ณ บริเวณสถานที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของทหารเรือไทย ที่ได้สละชีวิตในการปกป้องประเทศชาติและอธิปไตยของไทยให้คงอยู่สืบไป
- ฝ่ายฝรั่งเศส แม้จะไม่เสียเรือรบลำใดเลยก็ตาม แต่เรือธงลาม็อต-ปีเกนั้นก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้น การข่าวของฝ่ายไทยไม่ทราบจำนวนแน่นอน แต่มีรายงานว่าเมื่อเรือข้าศึกกลับถึงไซ่ง่อน ได้มีการขนศพทหารที่เสียชีวิต และทหารที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นบกกันตลอดคืน ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่าไม่มีความสูญเสียแต่อย่างใด แต่ฝ่ายไทยกลับยืนยันว่าเรือลาม็อต-ปีเกถูกเรือหลวงธนบุรียิงเข้าอย่างจัง จนสังเกตได้ว่ามีไฟลุกอยู่ตอนท้ายเรือ และลำเรือตอนท้ายนั้นแปล้น้ำมากกว่าปกติ โดยอ้างตามคำให้การของทหารเรือที่รอดชีวิตและชาวประมงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การรบนี้ ได้มีบันทึกต่อมาว่า ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีนจากฝรั่งเศส เรือลาม็อต-ปีเกได้เดินทางไปยังนครโอซะกะ จักรวรรดิญี่ปุ่น เพื่อซ่อมบำรุงเรือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 หลังจากนั้นจึงได้ปลดเป็นเรือฝึกเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และถูกจมโดยเครื่องบินสังกัดกองเรือเฉพาะกิจที่ 38 ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2488
แหล่งอ้างอิง
- https://pr.prd.go.th
- https://th.wikipedia.org