⇧ เหตุการณ์สำคัญ

มูลเหตุ
กรณีแมนฮัตตัน หรือกบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏทหารเรือ หรือกบฏ 29 มิถุนา เป็นปฏิกิริยาของฝ่ายทหารเรือที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล และผู้นำกลุ่มทหารบก รวมทั้งการที่รัฐบาลไม่สนับสนุนกิจการของกองทัพเรือเท่าที่ควร ฝ่ายทหารเรือได้เคยวางแผนการที่จะทำการต่อต้านรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลวลงก่อนที่จะได้ปฏิบัติการ จนในที่สุดก็ได้โอกาสเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ซึ่งยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ จนทำให้บทบาทและแสนยานุภาพของกองทัพเรือถูกบั่นทอนลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ 3 ประการ คือ

  • ประการที่ 1 ความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 ซึ่งคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 สนับสนุน โดยทหารเรือเห็นว่า รัฐบาลของคณะรัฐประหาร มิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้วิธีเผด็จการโดยปรับปรุงกรมตำรวจให้มีลักษณะเป็น “ กองทัพ ” เพื่อข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรม
  • ประการที่ 2 ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจกับทหารเรือ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างสนับสนุนผู้นำต่างกัน ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทหารเรือสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนตำรวจนั้นมีปัญหากระทบกระทั่งกับทหารเรืออยู่เสมอ และได้กล่าวหาทหารเรือในเรื่องที่มักให้ผู้กระทำความผิดประเภทใช้อาวุธปล้นจี้หลบซ่อนในเขตทหารเรืออีกด้วย
  • ประการที่ 3 ความเสื่อมโทรมในกองทัพเรือ เพราะรัฐบาลไม่ไว้วางใจและไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่ครั้งกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มีการตัดกำลังนาวิกโยธินลง เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพเรือ โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้กองทัพเรือไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับปรุงกองทัพได้

คณะผู้ก่อการสำคัญ
ผู้ก่อการกบฏที่เป็นผู้นำสำคัญ คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ส่วนผู้นำฝ่ายอื่น ๆ นั้นก็ได้รับการชักชวนจากทหารเรือที่มียศระดับกลาง ๆ โดยไม่มีการให้คำมั่นเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกบฏประสบความล้มเหลว

ลำดับเหตุการณ์
คณะผู้ก่อการได้คิดจะก่อการในลักษณะเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สบจังหวะที่เหมาะสม จึงได้แต่เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาลงมือจริง หลายฝ่ายที่ถูกชักชวนให้ลงมือก็คาดว่าจะต้องมีการเลื่อนอีกแน่นอน จึงมิได้ปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้ โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ทางราชการ ได้กำหนดให้ประกอบพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทยตามโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ พิธีนี้จัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อประกอบพิธีรับมอบเสร็จแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้รับเชิญไปชมเรือ ขณะนั้นเอง นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำตัวไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา และคุมขังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไว้ ณ ที่นั้น คณะผู้ก่อการได้ประกาศยืนยันถึงความจำเป็น ที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหารงานที่เหลวแหลกของรัฐบาล ซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ต่อมาเมื่อถึงเวลา 04.00น. ของวันที่ 30 มิถุนายน การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2494 เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือ และตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้น การเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา 15.00น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งไฟลุกไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี ได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา 17.00 น. เรือหลวงคำรณสินธ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

หลังเหตุการณ์ยุติ
ภายหลังเหตุการณ์ได้ยุติลง รัฐบาลได้ดำเนินการให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปรกติ ทั้งทางด้านความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทหาร และตำรวจซึ่งได้รับความเสียหายจากการสู้รบครั้งนี้ รวมทั้งมีการปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือจำนวน 12 คน ที่สำคัญ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลเอก ผิน ชุณหะวัณ พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ ปรากฏว่าคณะกรรมการได้พิจารณาและลดกำลังกองทัพเรือในลักษณะลดทอนแสนยานุภาพ มากกว่าจะเป็นการปรับปรุงเพื่อให้กองทัพเรือมีสมรรถภาพดีขึ้น โดยมีมติดังนี้

  • ประการที่ 1 ให้ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพ ฯ และสัตหีบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง 1 กองพัน และให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมด และปลดนายทหารนาวิกโยธินออก เพื่อมิให้กองทัพเรือมีทหารนาวิกโยธินต่อไปอีก เนื่องจากเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง
  • ประการที่ 2 ให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือ จากพระราชวังเดิมไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี เมื่อกองทัพเรือได้ย้ายออกไปแล้วได้ใช้เป็นสถานศึกษาหรือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนต่อไป
  • ประการที่ 3 ให้ย้ายกองเรือรบ ตลอดจนเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้เปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็น “ กองเรือยุทธการ ”
  • ประการที่ 4 ให้กองสัญญาณทหารเรือย้ายออกจากศาลาแดงไปอยู่ที่อื่น
  • ประการที่ 5 ให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ไปเป็นของกองทัพอากาศ เพราะเห็นว่ากองบินไม่จำเป็นสำหรับกิจการของทหารเรือ หากมีความจำเป็น กองทัพอากาศก็สามารถปฏิบัติการแทนได้ หรือใช้ร่วมกันได้
  • ประการที่ 6 ให้ยุบเลิกกองสารวัตรทหารเรือ กรุงเทพฯ
  • ประการที่ 7 ที่ทำการกองเรือรบเดิมที่ท่าราชวรดิฐ ไม่ให้ทหารเรือหรือทหารเหล่าอื่นเข้าอยู่
  • ประการที่ 8 โอนสถานที่ทำการหมวดเรือพระราชพิธีแจวบางส่วนให้ทหารบก โดยให้โอนเฉพาะพื้นที่ติดคลองสำหรับจอดเรือพระราชพิธีแจวพายเท่านั้น
  • ประการที่ 9 สถานที่ของกองพันนาวิกโยธิน 4-5 สวนอนันต์ ถนนอิสรภาพ ไม่ให้ทหารเรือเข้าอยู่ และโอนให้เป็นของทหารบก
  • ประการที่ 10 ให้ยุบมณฑลทหารเรือที่ 1 ที่ครอบคลุมเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม และมณฑลทหารเรือที่ 2 ครอบคลุมเขตจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ซึ่งเป็นการย่อส่วนของกองทัพเรือให้เล็กลงทั้งการปฏิบัติการและกำลังพล พร้อมกันนั้นได้ยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ส่วนใหญ่ของทหารเรือไป
เรือหลวงศรีอยุธยา ขณะจมลงหลังถูกทิ้งระเบิดใส่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่มีอำนาจสั่งการ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2494 คณะรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหมได้มีประกาศและคำสั่งให้นายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบพักราชการ และปลดออกจากราชการหลายคน เช่น พลเรือเอก สินธ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) รองผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร รองผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี กนก นพคุณ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ 1 พลเรือตรี ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พลเรือตรี ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ และ พลเรือตรี สงวน รุจิราภา นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ และมีผู้ถูกปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญที่สำคัญ เช่น นาวาเอก อานนท์ บุณฑริกาภา และนาวาตรี มนัส จารุภา นอกจากนี้ ยังมีนายทหารเรืออีกประมาณ 70 นายถูกปลดออก การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้กองทัพเรือไม่มีความเข้มแข็งอีกต่อไป และทหารเรือแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองอีกเลย เหตุการณ์นี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น “ สงครามกลางเมือง ” เหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทัพเรือถูกลดแสนยานุภาพลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง


แหล่งอ้างอิง

  • https://sites.google.com/site/thaipolitichistory
  • https://th.wikipedia.org