⇧ เหตุการณ์สำคัญ

ยุทธการสามชัย เป็นวีรกรรมของทหารนาวิกโยธินในการปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ยุทธการสามชัย เป็นการปฏิบัติการจริงที่แฝงมาในการฝึกชื่อเป็นทางการว่า การฝึกร่วม 16 เป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และ เลย ปฏิบัติการในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2515 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2516 ใช้งบประมาณประจำปี 2516 นับว่าเป็นยุทธการแรกที่นาวิกโยธินได้มีโอกาสไปร่วมปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับทัพบกไทย (กองทัพภาคที่ 3) และทหารอากาศ ในพื้นที่ป่าภูเขาซึ่งอยู่ห่างไกลที่ตั้งของตนเอง และมีภูมิประเทศที่แตกต่างจากชายฝั่งทะเลที่ทหารนาวิกโยธินมีความ คุ้นเคย


จากเอกสาร การบรรยายสรุปของ นาวาเอกประชา กนิษฐชาต ผบ.ผส.นย. ที่บรรยายสรุปให้ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ทราบเกี่ยวกับ ยุทธการสามชัย หรือ การฝึกร่วม 16 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2515 ช่วยให้ทราบสาเหตุและความเป็นมาที่กองทัพบกขอให้กองทัพเรือจัดหน่วยนาวิกโยธินไปร่วมปฏิบัติการตลอดจนภูมิหลังต่างๆ ที่พอให้คนรุ่นหลังได้ทราบ ดังต่อไปนี้

  • ช่วงกลางเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2515 กำลังของหน่วยนาวิกโยธิน เพิ่งกลับจากการฝึกทดสอบแผนในการปฏิบัติการในภาคใต้ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปวางแผนกับ กองทัพบกในการฝึกร่วม 16 ที่ ศปก.ทบ. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2515 ทันที
  • จากคำกล่าวของ ผอ.ฝร.16 ในการประชุมวางแผน ฝึกร่วม 16 มีสาระสำคัญว่า “ทบ.ไม่มีเวลาพักผ่อนในการปราบปราม ผกค. โดยเฉพาะในเขต ทภ.3 ขอให้ ทร. ได้ช่วยบ้าง เพื่อให้ ทบ.ได้มีเวลาพักผ่อนตามสมควร”
  • การเคลื่อนย้ายกำลังต่างๆ ของกองพันเฉพาะกิจนาวิกโยธิน (พัน.ฉก.นย.) จากที่รวมพล พัน.ร.1 ผส.นย. ค่ายกรมหลวงชุมพรฯ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เข้าสู่พื้นที่รวมพลขั้นสุดท้ายที่ค่ายลูกเสือเมืองลุ่ม อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยยานยนต์กระทำเป็น 3 ส่วน ส่วนการเคลื่อนย้ายจากที่รวมพลขั้นสุดท้ายขึ้นสู่ ฐานปฏิบัติการบ้านป่ายาบซึ่งอยู่บนเขา ในพื้นที่รับผิดชอบนั้นกระทำด้วยกำลังทางอากาศ กำลังพลทหารราบลำเลียงด้วย ฮ.ฮิวอี้ ของกองบินทหารบก และของกองทัพอากาศรวม 105 เที่ยว ปืนใหญ่ 105 มม. ยกหิ้วด้วย ฮ.ซีนุก ของกองทัพบก ที่ตั้งกองพันทางยุทธวิธี ตั้งอยู่ที่บ้านป่ายาบ ณ ฐานปฏิบัติการ บ้านป่ายาบ ซึ่งตั้ง อยู่บนยอดเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาที่เป็นรอยต่อเขตแดน 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ เลย และ พิษณุโลก ซึ่งมีภูหินร่องกล้ารวมอยู่ด้วยนี้
  • กำลังของ บก.กองกำลังนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำลังในกองกำลังเขตกองทัพภาค 3 (ส่วนหน้า) และชุดสนับสนุนการช่วยรบนั้น เคลื่อนย้ายจาก บก.ผส.นย. ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยยานยนต์ไปเข้าที่รวมพล ที่ค่ายลูกเสือพ่อขุนผาเมือง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ในขั้นการเคลื่อนย้ายเข้าสู้พื้นที่ปฏิบัติการนี้ ใช้เวลาตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน ถึง 28 พฤศจิกายน 2515 รวมทั้งสิ้น 26 วัน
  • ระยะเวลาปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2515 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2516 รวมระยะเวลาการรบทั้งสิ้น 60 วัน ในยุทธการสามชัย นาวิกโยธินได้บทเรียนมากมายสำหรับการรบครั้งหนึ่งในหลายๆ ครั้ง
  • ในยุทธการสามชัยนี้ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการร่วมกันของ กำลังทางทหารบก ทหารเรือและทหารอากาศ ของสามเหล่าทัพจริง ๆ สมตามชื่อว่า “ยุทธการสามชัย” คือ การช่วยคนเจ็บกลับออกจากพื้นที่การรบของกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ซึ่งมี เรือเอกชีวิน ปิ่นทอง เป็นผู้บังคับกองร้อย เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้เกาะอยู่รอบๆ ฐานปฏิบัติการของกองร้อย การนำเฮลิคอปเตอร์ลงรับคนป่วยต้องใช้ อากาศยานของกองทัพอากาศทิ้งระเบิดและยิงปืนกลสกัด ทำลาย ข่มไว้ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ปืนใหญ่ 105 มม. จากกองร้อยปืนใหญ่นาวิกโยธิน ซึ่งมี เรือเอกสมภูรณ์ สุนทรเกตุ เป็น ผบ.ร้อย. ยิงสกัดข่มไว้อีกด้านหนึ่ง และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก จะต้องบินรอดใต้วิถีกระสุนของปืนใหญ่เข้ามา เพื่อที่จะลงรับคนป่วยและทำได้สำเร็จ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการร่วมของ 3 เหล่าทัพที่สมบูรณ์จริงๆ
  • การปะทะกับ ผกค. ซึ่ง ๆ หน้าในลักษณะการปฏิบัติแบบฉับพลัน ฝ่ายเราได้เปรียบตลอด ยิงก่อน ยิงแม่นกว่า การเคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการระดับกองร้อย หรือระดับหมวดทุกๆ วันไม่เคยถูก ผกค. รบกวนฐานเพราะ ผกค. ยังตรวจหาไม่พบฐานฝ่ายเรา เนื่องจากเดาไม่ถูกว่าฝ่ายเราเคลื่อนย้ายไปทางไหน เพราะเราเดินตามเข็มทิศ ไม่ได้เดินตามเส้นทาง แม้เมื่อถูกตรวจพบฐาน ผกค. จะพยายามยิงเพื่อให้ฝ่ายเรายิงโต้ตอบ เพื่อเปิดเผยแนว แต่เมื่อฝ่ายเราเงียบสงบและจะยิงเฉพาะเมื่อเห็นตัวเท่านั้น ซึ่ง ผกค. ก็จะบาดเจ็บกลับไปแทบทุกครั้ง และตราบใดที่ ผกค. ยังไม่ทราบแนวป้องกันของเรา ผกค.จะไม่กล้าเข้าตีเป็นกลุ่มก้อน
  • เมื่อสิ้นสุดยุทธการรบในคราบการฝึกครั้งนี้ พลโท บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้อำนวยการฝึกร่วมปี 16 ได้กล่าวรายงานสรุปผลการฝึกร่วมปี 16 ให้แก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารเรือ และอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยผู้แทนจาก 3 เหล่าทัพ ประมาณ 300 คน ณ หอประชุม กิตติขจร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2516 ตอนหนึ่ง ที่ท่านผู้อำนวยการฝึกร่วมปี 16 กล่าวถึงกองพันเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ไว้ว่า “กระผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีกำลังของหน่วยนี้ เข้าปฏิบัติร่วมด้วย ตลอดระยะเวลาที่กำลังนาวิกโยธินหน่วยนี้ เข้าปฏิบัติการ กระผมขอกราบเรียนด้วยความจริงใจว่า กองพันนาวิกโยธิน กองพันนี้ มีประสิทธิภาพสูง สามารถเข้าร่วมการฝึกเคียงบ่าเคียงไหล่ กับกองพันของกองทัพบกได้อย่าง ดีเยี่ยม”

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.facebook.com/warofhistory