⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

เมื่อครั้งเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ในอ่าวไทย บริเวณจังหวัดชุมพรในปี พ.ศ.2532 กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการหลักในการค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางทะเล ได้ใช้เรือและอากาศยานในการค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฐานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย และชาวประมง แต่มีขีดจำกัด ในการปฏิบัติการ เนื่องจากเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรือมีอยู่ขณะนั้น ไม่สามารถทนสภาพทะเลเมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทำได้ ด้วยความยากลำบาก และไม่ได้ผลตามที่กองทัพเรือต้องการ ประกอบกับภารกิจของกองทัพเรือในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งในปัจจุบันเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยได้ขยายออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล การที่มีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยจะสามารถใช้ในการค้นหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ตลอดจนการมีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือจะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น กองทัพเรือจึงได้มีแนวความคิดในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถ บรรลุภารกิจตามความมุ่งหมาย และได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเรือและการปฏิบัติภารกิจของเรือ จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อ 17 มีนาคม 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือ ว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 1 ลำ จากบริษัทบาซาน ประเทศสเปนในวงเงินประมาณ 7,100 ล้านบาท และกองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างสร้างเรือเมื่อ 27 มีนาคม 2535

การตั้งชื่อเรือ

กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ รวมทั้งเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้ประเทศมีความเป็น ปึกแผ่นและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจคนไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกต่อเนื่องกันมากว่า 200 ปี ซึ่งกองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” อันหมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี

ภารกิจของหน่วย

ยามสงบ มีภารกิจคือ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ปฏิบัติการอพยพประชาชน ปฏิบัติการควบคุมและรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเลและบริเวณชายฝั่ง คุ้มครองผลประโยชน์ของชาติในทะเล

ยามสงคราม มีภารกิจคือ ทำหน้าที่เป็นเรือธง ควบคุม บังคับบัญชากองเรือในทะเล ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยผิวน้ำให้กับกองเรือ ควบคุมการปฏิบัติการปราบเรือดำน้ำให้กับกองเรือ สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 911
    • วางกระดูกงู 12 ก.ค. 2537
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 20 ม.ค. 2539
    • ขึ้นระวางประจำการ 20 มี.ค. 2540
    • ผู้สร้าง บริษัท Empresa Nacional Bazan ประเทศสเปน
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 182.60 เมตร
    • ความกว้าง 30.50 เมตร
    • ความสูงถึงดาดฟ้าบิน 18.50 เมตร
    • ความสูงถึงยอดเสา 42 เมตร
    • กินน้ำลึก 6.30 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 27 นอต
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 11,544 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 10,000 ไมล์ ที่ 12 นอต
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 9
    • ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 45 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 451 นาย
    • มีห้องพยาบาล ตรวจโรค ผ่าตัด เอกซ์เรย์ ทันตกรรม รับผู้ป่วยได้ 15 เตียง
    • มีห้องผู้ประสบภัย รับได้ 26 เตียง
  • คุณลักษณะด้านปฏิบัติการบิน
    • เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 9 เครื่อง(ปลดระวางหมดแล้ว)
    • เฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B จำนวน 6 เครื่อง
    • ดาดฟ้าบิน รับ-ส่งเฮลิคอปเตอร์ได้ทุกประเภท ยกเว้น Chinook รับส่งได้ที่ SPOT ที่ 4 เท่านั้น
    • สามารถ รับ-ส่งเฮลิคอปเตอร์ได้ 5 เครื่อง พร้อมกัน
  • ระบบตรวจการณ์
    • เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Saab Sea Giraffe AMB 3D
    • เรดาร์ควบคุมการยิง Thales STIR 1.8 2 ชุด
    • เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine VisionMaster FT 2 ชุด
    • ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ ITT Excelis AN/SLD-4(V) (ES-3601)
    • ระบบถามสัญญาณพิสูจน์ฝ่าย แบบ Mk XII Selex Communications SIT422 CI
    • ระบบตอบรับสัญญาณพิสูจน์ฝ่าย แบบ Mk XII Selex Communications M425 NGIFF
    • ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับอากาศยาน Saab ADS-B
    • ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับเรือ Saab AIS
    • ระบบช่วยเดินอากาศทางยุทธวิธี (TACAN) NavCom Defense Electronics AN/URN-25
  • ระบบสื่อสาร
    • ระบบสื่อสารแบบรวมการ Saab TactiCall ICS
    • ระบบวิทยุสื่อสาร Rohde & Schwarz M3SR/M3AR w/ SECOS
    • ระบบวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม M-VSAT
    • ระบบวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม INMARSAT-M
    • ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี Saab Link E และ Link G (TIDLS)
    • ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี Saab Link 11 (TADIL-B)
    • ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี Avia Satcom/Rohde & Schwarz Link RTN
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนกล Rheinmetall Mk 20 DM6 ขนาด 20 มม./85 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 4 แท่น
    • ปืนกล U.S. Ordnance M2HB ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 2 แท่น
    • แท่นยิง Sadral สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ MBDA Mistral 3 แท่น แท่นละ 6 ท่อยิง
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่แบบ CODOG
    • เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ GM LM 2500 จำนวน 2 เครื่อง
    • เครื่องยนต์ดีเซล MTU 16 V 1163 TB จำนวน 2 เครื่อง
    • เพลาใบจักร จำนวน 2 เพลา หมุนออกนอกตัวเรือ
    • ใบจักรแบบปรับพิทช์ได้ จำนวน 4 ใบ/พวง
    • เครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง
    • เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง
    • เครื่องปรับแต่งอาการโคลงของเรือ จำนวน 2 ชุดเครื่อง
    • เครื่องผลิตน้ำจืดแบบ REVERSE OSMOSIS จำนวน 4 เครื่อง

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.fleet.navy.mi.th/cvh911/index2.html
  • http://www.thaiarmedforce.com