⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

⇑ บุคคลสำคัญ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาโหมด (ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ หรือ วร บุนนาค) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา และ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาภาษาไทยกับพระยาอิศรพันธุ์ โสภณ (ม.ร.ว.หนู อิศรางกูร) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจนพระชนมายุได้ 13 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 ได้ทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยเสด็จฯ ไปพร้อมกับ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) การศึกษาในระยะแรกนั้น ทรงศึกษาวิชาการขั้นต้น เช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ต่อมาได้ทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่า กิจการทหารเรือของไทยในสมัยนั้นยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ต้องอาศัยชาวต่างประเทศมาเป็นครูและควบคุม ทำให้ไม่มีความมั่นคงมากนัก หากเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับชาวต่างชาติที่มาล่าเมืองขึ้น ดังเช่นเมื่อคราวฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในปี ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 จะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก จึงทรงปรารถนาที่จะให้พระราชโอรสสักพระองค์หนึ่ง ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการทหารเรือของสยาม ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ อยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นระยะเวลานานถึง 6 ปี จนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรสูงสุดของโรงเรียนนายเรืออังกฤษ แล้วเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2443 เมื่อเสด็จกลับถึงเมืองไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสู่ขอ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาใน สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์ วรเดช ให้เสด็จในกรมฯ และได้ทรงมีพิธีอภิเษกสมรส ในปีเดียวกันนั่นเอง

พระองค์ทรงมีพระโอรสและพระธิดารวม 9 พระองค์ คือ

  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
  2. พลอากาศโท หม่อมเจ้า รังสิยากร อาภากร
  3. หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา
  4. หม่อมเจ้าหญิงศิริมาบังอร
  5. เรือเอก หม่อมเจ้าสมรบันเทิง อาภากร
  6. หม่อมเจ้าหญิง เริงจิตแจรง
  7. พันเอก หม่อมเจ้าคำแดงฤทธิ์ อาภากร
  8. พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร
  9. หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร

หลังกลับจากประเทศอังกฤษแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงเข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2443 โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือรบหลวง มูรธาวสิตสวัสดิ์ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท ซึ่งเทียบเท่านาวาตรีในปัจจุบัน และมี พลตรี กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2444 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น นายเรือเอก ซึ่งเทียบเท่านาวาเอกในปัจจุบัน จากนั้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ในปีเดียวกัน ก็ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น นายพลเรือตรี พร้อมกับได้รับสถาปนาพระอิสริยยศ เป็นกรมหมื่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 ก็ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งในสมัยนี้เอง ที่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไข และวางหลักสูตรในโรงเรียนนายเรือขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนนายเรือในต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาทหารเรือขึ้นเป็น กระทรวงทหารเรือ มีจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และในวันที่ 23 ธันวาคม ปีเดียวกัน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิบดีกระทรวงทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็น พลเรือเอก และในวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ก็ทรงได้รับการสถาปนา พระอิสริยยศ จากกรมหมื่นเป็นกรมหลวง เป็นยศและพระอิสริยยศครั้งสุดท้าย ในระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสูงในราชการทหารเรือนั้น

เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นที่เคารพรักของเหล่าทหารเรือทั่วไป เพราะไม่ทรงถือพระองค์ ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทหารเรือทั้งหลายอย่างใกล้ชิด ทรงปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาแบบบิดาปกครองบุตร ไม่ปกครองแบบเจ้ากับข้า หรือนายกับบ่าวเลย ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นที่รักของเหล่าลูกประดู่ทุกคน จนกระทั่งพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” กันโดยทั่วไป พระราชภารกิจอีกสิ่งหนึ่งของพระองค์ ที่เป็นที่สรรเสริญยกย่องกันทั่วไปก็คือ การทรงนำเรือรบหลวงพระร่วง เดินทางจากอังกฤษมาสู่ประเทศไทยโดยปลอดภัย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย ที่คนไทยล้วน สามารถนำเรือเดินทางข้ามทวีปได้เอง เรือรบหลวงพระร่วง เป็นเรือที่ประชาชนชาวไทย ร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อซื้อเรือรบมาไว้ป้องกันประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 8 หมื่นบาท และมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ร่วมบริจาคเงินซื้อเรือรบเป็นอันมาก จนได้เงินถึง 3,514,604 บาท ในปี พ.ศ. 2463 เสด็จในกรมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ออกไปหาซื้อเรือรบยังทวีปยุโรป พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงเลือกซื้อเรือรบที่ประเทศอังกฤษ และทรงเลือกซื้อเรือเรเดียนต์ ซึ่งเป็นเรือชนิดพิฆาตตอร์ปิโด เมื่อทรงซื้อเรือและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงนำเรือรบลำนี้ เดินทางจากอังกฤษมาสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 เสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการเรื่อยมา จนกระทั่งทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ได้รับ ต่อมาปรากฏว่าสุขภาพของพระองค์ไม่สู้ดีนัก เพราะทรงตรากตรำงานหนักมาตลอด จนเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้เพียง 49 วัน ก็ทรงถวายบังคมลาออก เพื่อไปทรงพักผ่อน ณ บ้านใต้ ปากน้ำชุมพร ซึ่งพระองค์ตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปทำสวน ณ ตำบลชายทะเลแห่งนั้น ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ยิ่งนัก พระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2466 และประทับอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน ก็ทรงประชวรด้วยไข้หวัดใหญ่ เพียง 3 วันเท่านั้น ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 รวมพระชนมายุได้เพียง 44 พรรษา

เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยใน กีฬามวย และกระบี่กระบอง รวมทั้งกีฬาแล่นใบ ก็นับว่าทรงโปรดมากที่สุด ในด้านการดนตรี ทรงมีความสามารถชำนาญในดนตรีดีดสีตีเป่า ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล การขับร้องเพลงไทยนั้น ทรงนิพนธ์บทเพลงขึ้นเองหลายเพลง โดยเฉพาะบทเพลงที่ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับวิชาทหารเรือนั้น มีสาระสำคัญในการปลุกใจให้เข้มแข็ง ส่งเสริมกำลังใจให้มีความรักทั้ง ชาติ หน้าที่ เกียรติ วินัย หมู่คณะ และให้เกิดความมุมานะ กล้าตายไม่เสียดายชีวิตในยามศึก ได้แก่ เพลงดอกประดู่ เพลงดาบของชาติ และเพลงเดินหน้า นอกจากนี้ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จากตำราไทย โดยได้ทรงเขียนตำราสมุดข่อย ซึ่งกล่าวกันว่า ปัจจุบัน ตำรายานี้ได้เคยเก็บรักษาอยู่ ณ ศาลกรมหลวงชุมพร นางเลิ้ง และมีอักษรเขียน เป็นภาษาบาลีว่า “กยิราเจ กยิราเถนํ” พระองค์ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรค ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่า จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้ได้เจ็บ ได้อย่างหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อผู้คนพากันรู้ว่า เจ้าพ่อรักษาโรคได้ฉมังนัก จึงทำให้ร่ำลือ และแตกตื่นกันทั้งบ้าน ทั้งเมือง แต่ไม่ทรงให้ใครเรียกพระองค์ว่า เสด็จในกรมฯ หรือยกย่อง เป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า “หมอพร” เมื่อมีประชาชน มาหาพระองค์ให้รักษา ก็ทรงต้อนรับ ด้วยไมตรีจิต และรักษาให้เป็นการฟรี ไม่คิดค่ารักษา แต่ประการใด นอกจากจะเชิญไปรักษาตามบ้าน ซึ่งเจ้าของไข้จะต้องหารถรา ให้พระองค์เสด็จไป และนำเสด็จกลับ โดยมากเป็นรถม้าเท่านั้น


แหล่งอ้างอิง

  • http://www.navy.mi.th
  • https://th.wikipedia.org