ความเป็นมาของโครงการ
เรือหลวงพฤหัสบดี (H.T.M.S.PHARUEHATSABODI) เป็นเรือที่กองทัพเรือจัดสร้างขึ้นตามโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์สำหรับงานอุทกศาสตร์ และงานต่อต้านทุ่นระเบิด/ฝึก ระยะที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือสำรวจขนาดเล็กที่ปลดระวางประจำการและเรือเก่าที่มีอายุใช้ราชการมานาน โดยจะใช้เป็นเรือสำรวจแผนที่ทะเลและสำรวจสมุทรศาสตร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตลอดจนใช้เป็นเรือสนับสนุนงานต่อต้านทุ่นระเบิด เพื่อช่วยเสริมการปฏิบัติการทางเรือสาขาสงครามทุ่นระเบิดให้มีประสิทธิภาพ เรือหลวงพฤหัสบดี ต่อขึ้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์เอนจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท Shelde Naval Ship Building ในเครือ Damen Shipyard Group ของเนเธอร์แลนด์ ก่อสร้างโดยใช้แบบของ Damen Shipyard ด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 940 วัน
ภารกิจของหน่วย
มีภารกิจและหน้าที่ในภาวะปกติเพื่อใช้ในการสำรวจแผนที่ทะเลและสำรวจสมุทรศาสตร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการทางเรือ รวมทั้งใช้ในการสนับสนุนการฝึกตามประเภทเรือให้แก่นักเรียนหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกกองทัพเรือ สำหรับในสภาวะสงคราม ใช้ในการภารกิจสนับสนุน การต่อต้านทุ่นระเบิด เพื่อช่วยเสริมการปฏิบัติการทางเรือสาขาสงครามทุ่นระเบิดให้มีประสิทธิภาพ และยังสามารถใช้ในการสนับสนุนการกู้ภัยทางทะเล สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุนการขจัดคราบน้ำมันในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือของกองทัพเรือ
คุณลักษณะของเรือ
- ทั่วไป
- หมายเลข 813
- สัญญาณสากล HSNI
- วางกระดูกงู 25 ส.ค. 2549
- ปล่อยเรือลงน้ำ 14 ก.พ. 2551
- ขึ้นระวางประจำการ 21 ก.ค. 2551
- ผู้สร้าง บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์เอนจิเนียริ่ง จำกัด
- คุณลักษณะทั่วไป
- ความยาวตลอดลำ 66.33 เมตร
- ความกว้าง 13.20 เมตร
- กินน้ำลึก 3.10 เมตร
- ความเร็วสูงสุด 12 นอต
- ระวางขับน้ำสูงสุด 1,636 ตัน
- ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,000 ไมล์ ที่ 10 นอต
- ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
- ตัวเรือสร้างด้วย เหล็ก
- ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 15 วัน
- กำลังพลประจำเรือ 73 นาย
- ระบบอาวุธ
- ปืนใหญ่กล Rheinmetall ขนาด 20 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
- ปืนกล .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
- ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
- เครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อนด้วย azimuth trusters ไม่มีหางเสือ
- ระบบสนับสนุนอื่นๆ
- ระบบ Hydrographic Data System 1 ชุด
- ระบบหยั่งน้ำหลายลำคลื่น 1 ชุด
- ระบบหยั่งน้ำลำคลื่นเดียว 1 ชุด
- ระบบสำรวจ Side Scan Sonar System 1 เครื่อง
- ระบบสำรวจ Ultra Short Base Line (USBL) System 1 เครื่อง
- ระบบสำรวจ Motion and Reference System 1 เครื่อง
- ระบบสำรวจ CTD units 2 เครื่อง
แหล่งอ้างอิง
- กองวิจัยและพัฒนา ยก.ทร.
- กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ
- https://th.wikipedia.org/