ความเป็นมาของโครงการ
กองทัพเรือได้เสนออนุมัติ กระทรวงกลาโหม ขออนุมัติโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (ตกก.) จำนวน 2 ลำ ซึ่ง กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพประจำปี 2544 เมื่อ 13 ส.ค.2542 โดยกองทัพเรือได้ทำการสั่งต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ว่าจ้าง บริษัท ไชน่าชิป บิวดิ้ง เทรดดิ้ง จำกัด จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ผูกพันงบประมาณข้ามปี ระหว่างปี พ.ศ.2544 – 2548 ในวงเงิน 3200 ล้านบาท เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจ ในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมไปถึงการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การปราบปราม การกระทำผิดทางทะเล ตามที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ซึ่งรวมถึงการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวที่ผ่านมา กองทัพเรือได้จัดเรือ และอากาศยานปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่มักพบคือ เมื่อต้องปฏิบัติการบริเวณไกลฝั่ง จำเป็นต้องใช้ เรือขนาดใหญ่ที่มีความคงทนทะเลสูง ซึ่งปกติจะใช้เรือฟริเกตเป็นหลัก แต่เนื่องจากเรือฟริเกตเป็นเรือ ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการรบโดยตรง จึงมียุทโธปกรณ์ และกำลังพลจำนวนมาก ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองสูง ทั้งการใช้งานและการบำรุงรักษา กองทัพเรือจึงได้ดำเนินการ จัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดใกล้เคียงกับเรือฟริเกตเข้าปฏิบัติงานแทน
การดำเนินการสร้าง
การต่อเรือนั้นดำเนินการที่ประเทศจีน โดยทำติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิคต่าง ๆ ซึ่งเป็นของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ ฯลฯ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือไทยในขณะนั้น และนำเรือเปล่ากลับมาติดอาวุธที่เมืองไทย เรือหลวงนราธิวาส ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับเรือหลวงปัตตานี โดยเรือหลวงนราธิวาส เป็นเรือลำที่สองที่ต่อเสร็จ และได้ออกเดินทางจากเมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงประเทศไทยเมื่อ ก.พ. 2549
การตั้งชื่อเรือ
ประเทศไทยประสบปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทัพเรือพิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรนำชื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพิจารณาเป็นพิเศษ ในการนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เคยขอร้องกองทัพเรือ ให้ตั้งชื่อเรือตามจังหวัดนราธิวาสมาแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความสำคัญต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อให้ชื่อเรือของกองทัพเรือมีประวัติสืบต่อเนื่องกัน กองทัพเรือจึงของพระราชทานนามชื่อเรือ ตกก. ทั้ง 2 ลำว่า เรือหลวงปัตตานี (H.T.M.S.Pattani) และ เรือหลวงนราธิวาส (H.T.M.S.Narathiwat) ตามลำดับ
ภารกิจของหน่วย
ภารกิจหลัก ลาดตระเวนตรวจการณ์ และปฏิบัติการรบผิวน้ำ เพื่อป้องกันการแทรกซึม และการละเมิดอธิปไตยทางทะเล
ภารกิจรอง คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ตลอดจนการรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
หน้าที่
- ลาดตระเวนตรวจการณ์ทางทะเลทั้งในยามปกติและยามสงคราม
- คุ้มครองการลำเลียงขนส่งทางทะเลในยามสงคราม
- ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลในยามสงคราม
- คุ้มครองเรือประมงและการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆในทะเล
- ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
- ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
คุณลักษณะของเรือ
- ทั่วไป
- หมายเลข 512
- ขึ้นระวางประจำการ 16 เม.ย. 2549
- ผู้สร้าง อู่ Hudong-Zhonghua เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
- คุณลักษณะทั่วไป
- ความยาวตลอดลำ 94.50 เมตร
- ความกว้าง 11.80 เมตร
- กินน้ำลึก 3.30 เมตร
- ความเร็วสูงสุด 25 นอต
- ระวางขับน้ำสูงสุด 1,635 ตัน
- ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์
- ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
- ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 20 วัน
- กำลังพลประจำเรือ 84 นาย
- ลาน ฮ. รับน้ำหนักได้ 7 ตัน
- อากาศยานประจำเรือ Super Lynx 300
- ระบบตรวจการณ์
- เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Selex RAN-30 X/I
- เรดาร์ทางยุทธวิธี LPI
- เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Rhienmetall TMX/EO
- เรดาร์เดินเรือ X Band
- เรดาร์เดินเรือ S Band
- กล้องตรวจการณ์ 1 ระบบ
- ระบบสื่อสาร
- ระบบรวมการสื่อสาร 1 ระบบ ของบริษัท Rohde & Schwarz
- ระบบอาวุธ
- ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม. Super Rapid Fire จำนวน 1 กระบอก
- ปืนกล 20 มม. Oerlikon GAM-C01 จำนวน 2 กระบอก
- ปืนกล .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
- ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
- เครื่องจักรใหญ่ MAN RUSTON 16 RK270 2 x Diesels
- ใบจักร แบบ CPP 2 พวง
- เครื่องไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง
- เรือในชุดเดียวกัน
- เรือหลวงปัตตานี(ลำที่ 2)
- เรือหลวงนราธิวาส
แหล่งอ้างอิง
- http://www.patrolsqdn.com
- https://th.wikipedia.org