⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการที่กองทัพเรือ ขออนุมัติกระทรวงกลาโหมดำเนินการต่อขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือมีใช้ราชการ ด้วยการน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวง ร.9 ที่ทรงรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.45 ที่ว่า “เรือรบ ขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” ซึ่งกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่กองทัพเรือมีใช้ในราชการ โดยมีมติให้ใช้แบบเรือของเรือหลวงกระบี่ ที่กองทัพเรือได้ต่อขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.54 เป็นแบบพื้นฐานในการสร้าง พร้อมกับเสนอแนะให้ปรับปรุงข้อบกพร่องในส่วนต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงกระบี่ เพื่อให้เรือลำใหม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมมากขึ้นในการตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออนุมัติให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยการสร้างเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเล และการปฏิบัติการรบผิวน้ำ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่น ๆ

การดำเนินการสร้าง

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2561 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการจัดหาเฉพาะระบบตัวเรือ จำนวน 1 ลำ ประกอบด้วยแบบและพัสดุในการสร้างเรือ พร้อมระบบสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงรวมและการบริการทางด้านเทคนิค ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2561 ระยะที่ 2 การจัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ และระบบอาวุธ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2559 – 2561 ดำเนินการสร้างเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือในการดำเนินการติดตั้งทดสอบ ทั้งตัวเรือโดยกรมอู่ทหารเรือ ระบบอาวุธ โดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ และ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของต่างประเทศ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างเรือขนาดใหญ่ด้วยการพึ่งพาตนเอง กล่าวคือ กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแบบเรือและพัสดุจากประเทศอังกฤษ ส่วนการบริการทางเทคนิคในการติดตั้งการเชื่อมต่อการทดสอบ ทดลองอุปกรณ์ ตลอดจนการสร้างเรือในสาขาต่างๆนั้น ได้ลงนามกับ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในส่วนของกองทัพเรือ

ทั้งนี้ ในส่วนของความแตกต่างระหว่าง เรือหลวงกระบี่ กับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 คือ ได้เพิ่มขีดความสามารถของดาดฟ้าบิน ให้สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบซีฮอว์คได้ การติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบฮาร์พูน รวมถึงการปรับปรุงห้องต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ในส่วนของการต่อเรือนั้น ใช้การต่อแบบ Block Construction แทนการต่อแบบเดิมที่ต้องเริ่มจากการวางกระดูกงูเรือ โดยประกอบ 17 บล็อคใหญ่ 31 บล็อคย่อย ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยนำมาประกอบ ในอู่แห้ง

ความแตกต่างจาก เรือหลวงกระบี่ 3 รายการ

  1. ขยายลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ด้วยการลดขนาดความยาวของ Superstructure และออกแบบโครงสร้างให้สามารถรองรับ ฮ. แบบ Seahawk ได้
  2. ออกแบบโครงสร้าง Superstructure (ด้านหลังปล่องควัน) ให้สามารถรองรับการติดตั้งอาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น (SSM) Harpoon ได้
  3. ปรับฐานแท่นเครื่องจักรใหญ่ และระบบที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรองรับเครื่องจักรใหญ่ Man รุ่นใหม่ได้ (Man16V28/33DSTC7,200Kw)

คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 552
    • วางกระดูกงู 23 มิ.ย. 2560
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 2 ส.ค. 2562
    • ขึ้นระวางประจำการ 27 ก.ย.2562
    • ผู้สร้าง อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร
    • ความกว้าง 13.50 เมตร
    • กินน้ำลึก 3.70 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 23 นอต
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 1,960 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ ที่ 15 นอต
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
    • ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 14 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 99 นาย
    • รองรับกำลังพลปฏิบัติการทางอากาศได้ 16 นาย
    • ลาน ฮ. รับน้ำหนักได้ 11.5 ตัน
  • ระบบตรวจการณ์
    • เรดาร์ 2D Thales Variant
    • เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 EO MKII
    • กล้องตรวจการณ์ระยะไกล WESCAM MX10-MS
    • ระบบเรดาร์ ESM VIGILE Mk2 Tactical multi-purpose R-ESM
    • รดาร์เดินเรือ Northrop Grumman Sperry Marine และ Furuno
    • Thales TSฺB 2525 (IFF)
  • ระบบสื่อสาร
    • ระบบรวมการสื่อสาร 1 ระบบ
    • ระบบลิ้ง link Y Mk2 + link RTN
    • สื่อสารใต้น้ำ Aquacom
    • เรดาร์นำทาง Thales Scout
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม. รุ่น Multi Fleeding Valcano Super rapid จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล 30 มม. แท่นเดี่ยว รุ่น Seahawk MSI DS30MR จำนวน 2 กระบอก
    • ปืนกล .50 นิ้ว M2 จำนวน 2 กระบอก
    • อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Harpoon block2 แบบ Advanced Harpoon Weapon Control System จำนวน 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง
    • เครื่องยิงเป้าลวง (Decoy Launcher) SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่น
    • เครื่องขยายเสียงระยะไกล (LRAD 500 X)
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ MAN Diesel 16V 23/33D 2 เครื่อง
    • ใบจักร แบบ CPP 2 พวง
    • เครื่องไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง
  • เรือในชุดเดียวกัน
พิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลงน้ำ

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.thairath.co.th
  • http://navy24.org
  • https://www.khaosod.co.th
  • http://www.rtni.org
  • https://thaidefense-news.blogspot.com
  • https://www.defnetofficial.com