⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

กองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลางตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พุทธศักราช 2551 – 2560 ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบได้ 2 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำและการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ โดยกองทัพเรือจัดซื้อแบบแปลนรายละเอียด และพัสดุสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนจาก บริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 699,459,000 บาท และมอบหมายให้ กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบในการสร้างเรือ ใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ต่อเรือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน หลังจากที่กรมอู่ทหารเรือประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือและรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัย และล่าสุดคือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภท เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง

การดำเนินการสร้าง

การสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการต่อเอง โดยแบ่งการสร้างเรือ ออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 13 เดือน และหลังจากนั้น จะนำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยในระยะที่ 2 มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 10 เดือน ถึงกลางเดือนมิถุนายน 2559

ภารกิจของหน่วย

มีภารกิจในการตรวจการณ์ ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย การถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ สาขาต่าง ๆ ตลอดจน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 561
    • วางกระดูกงู 4 ส.ค. 2557
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 25 ส.ค. 2558
    • ขึ้นระวางประจำการ 21 ก.ย. 2559
    • ผู้สร้าง กรมอู่ทหารเรือ
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 58 เมตร
    • ความกว้าง 9.30 เมตร
    • กินน้ำลึก 2.50 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 24 นอต
    • ตัวเรือทำด้วย สตีล/อลูมิเนียม
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,500 ไมล์
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
    • ปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 7 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 53 นาย + 1 VIP
  • ระบบเดินเรือ
    • เรดาร์ S Band
    • เรดาร์ X Band
    • ECDIS
    • ไยโร แบบ Ring Laser
    • GPS
  • ระบบสื่อสาร
    • วิทยุ HF/SSB
    • วิทยุ HF/SSB Frequency Hopping
    • UHF AM/FM
    • VHF/UHF
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนหลัก OTO Melara 76 มม. จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล 30 มม. จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ CAT 3516 C จำนวน 3 เครื่อง
    • ใบจักร พวงกลางแบบ CPP, 2 พวงข้างแบบ FPP
    • เครื่องไฟฟ้า MAN D2876 LE301/Leroy Somer LSAM 47.2 M7 จำนวน 3 เครื่อง

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.sctr.navy.mi.th
  • http://www.marsun.th.com