⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

⇑ บุคคลสำคัญ

พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (André du Plessis de Richelieu) หรือกัปตันริเชลิว พ.ศ. 2395-2476 เป็นชาวเดนมาร์ก เชื้อสายฝรั่งเศส สืบเชื้อสายมาจาก พระคาร์ดินัล Armand Jean du Plessis de Richelieu อัครเสนาบดีและที่ปรึกษาผู้ทรงอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่13 แห่งฝรั่งเศส สมรสกับนางสาวดัคมาร์ เลิช (Dagmar Lousie Lerche) ธิดานายเอฟ. เลิช ผู้พิพากษาชาวเดนมาร์ก มีบุตรธิดา 3 คน พระยาชลยุทธฯ จบวิชาการทหารเรือแล้วรับราชการในกองทัพเดนมาร์กอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับราชการตามแรงบันดาลใจในวัยเด็กหนุ่มที่ชื่นชมในความเป็นเอกราชของประเทศสยามท่ามกลางดินแดนอาณานิคม และต้องการหนีความไม่แน่นอนของประเทศเดนมาร์กในสงครามยุโรป โดยมีพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งกรุงเดนมาร์กมาถวายรัชกาลที่5 เพื่อทูลฝากฝังว่า เป็นนายเรือตรีในกองทัพเดนมาร์ก และผ่านการเป็นกัปตันเรือมาแล้ว

เริ่มเข้ารับราชการในกองทัพเรือไทยเมื่อ เม.ย. 2418 ในตำแหน่ง กัปตันเรือพิทยัมรณยุทธ รักษาความสงบในภาคใต้ด้านทะเลอันดามัน ในพื้นที่เกาะภูเก็ต มีผลงานในการปราบอั้งยี่หลายครั้ง จนได้รับการเลื่นยศและตำแหน่งตามลำดับ พระยาชลยุทธฯ เป็นผู้ออกแบบและคุมก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 โดยใช้ป้อมปืนแบบทันสมัยล่าสุดจากประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อว่า “ปืนเสือหมอบ” เป็นผู้นำทหารเรือชาวเดนมาร์ก เข้าต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำ ทั้งที่กงสุลเดนมาร์กมีคำสั่งไม่ให้ชาวเดนมาร์กเข้ายุ่งเกี่ยวในการศึกครั้งนี้ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ระหว่าง 16 ม.ค. 2443 – 29 ม.ค. 2444 (ผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 9) นับเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนแรกและคนเดียวที่เป็นชาวต่างประเทศ พระยาชลยุทธฯได้ขอพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้พระราชทานตามที่ขอ


เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้รับหน้าที่กัปตันเรือพระที่นั่งทุกครั้ง เรื่มตั้งแต่เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ และเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระยาชลยุทธฯ ได้ร่วมหุ้นกันกับพระนิเทศชลธี (Alfred John Loftus) ดำเนินกิจการรถรางใช้ม้าลาก ซึ่งทำให้ไทยมีรถรางใช้เป็นครั้งแรก และยังได้ร่วมกันขอสัมปทานทางรถไฟสายกรุงเทพ – สมุทรปราการ ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย และเป็นรถรางสายแรกในเอเชีย พระยาชลยุทธ ฯ มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งคือ การคำนวณสารัมภ์ศาสตร์ ได้เคยคำนวณการเกิดสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. 2437 และได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

ภายหลังที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ 29 ม.ค. 2444 กลับไปรักษาตัว ณ ประเทศเดนมาร์ก แล้วได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการและประธานกรรมการในบริษัทพาณิชย์ เป็นสมาชิกรัฐสภาเดนมาร์ก 2 สมัย และยังช่วยในการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอเมืองจันทบุรีกลับคืนด้วย


แหล่งอ้างอิง

  • https://www.facebook.com/KODETAHARN/
  • https://th.wikipedia.org/