⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2432 ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามลำลองว่า “เอียดเล็ก” โดยข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป จะขนานพระนามว่า “ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก” หรือ “ทูลกระหม่อมอัษฎางค์” พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินี พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระชนนี 7 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
  2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
  4. จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
  6. นายพลเรือเอก สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชบูรณ์อินทราไชย
  8. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงอภิเษกสมรสกับแผ้ว สุทธิบูรณ์ แต่ไม่มีพระโอรสและพระธิดา

พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หลังจากลาผนวช ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พร้อมกับเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกและเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช และทรงศึกษาวิชาทหารเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยมาศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก พระองค์ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วจึงไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และดำรงตำแหน่งรัชทายาทแทนสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เสด็จทิวงคต


สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา มีพระกรณียกิจที่สำคัญในกองทัพเรือ คือ ทรงดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พลเรือเอก และทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467 ทรงเปลี่ยนระเบียบการปกครองบังคับบัญชาเรือหลวงใหม่ แต่เดิมนั้นการบังคับบัญชาในเรือหลวง แบ่งออกเป็น 2 กระบวนเรือ แต่ละกระบวนเรือต่างก็เป็นอิสระแก่กัน ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ พระองค์ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ไม่เป็นแบบฉบับเดียวกัน จึงให้รวมกระบวนเรือทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า กองทัพเรือ มีผู้บัญชาการกองทัพเรือเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือคนแรกคือ นาวาเอก พระหาญสมุท (บุญมี พันธุมนาวิน) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2466 และให้แบ่งแยกกองทัพเรือออกเป็น 3 กองเรือ คือ กองเรือปืน กองเรือใช้ตอร์ปิโด และกองเรือช่วยรบ

สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ประทับ ณ “วังสวนกุหลาบ” ซึ่งอยู่ภายในพระราชวังดุสิต ซึ่งมีครูทั้งทางดนตรีและนาฏศิลป์มาประจำอยู่มากมาย ด้วยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาทรงสนับสนุนศิลปะในแขนงนี้เป็นอันมาก นักดนตรีโดยส่วนใหญ่จะมาจากวงวังบูรพาภิรมย์ แม้แต่หลวงประดิษฐ์ไพเราะเองก็ได้มาช่วยปรับวงเป็นระยะ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงจะได้แก่ นายปริก หะสิตะเสน (ฆ้อง) นายมาก อนันตศัพท์ (เครื่องหนังและควบคุมวง) นายต๋วม สาดวง (ปี่) นายสงัด ยมะคุปต์ (ระนาดทุ้ม) นายสนิท (ฆ้องวงเล็ก) โดยมีครูท้วม ประสิทธิกุล เป็นนักร้อง สำหรับด้านนาฏศิลป์นั้นจะมีผู้มีฝีมือยู่กันหลายคน โดยเฉพาะ หม่อมแผ้ว (ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์ เสนีย์) ซึ่งเป็นพระชายานั้นจัดเป็นคนรำที่มีฝีมือเจนจัดมาก กับทั้งยังมีครูลมุล ยมคุปต์ และครูเฉลย ศุขะวนิชย์ ซึ่งเป็นคนรำที่มีฝีมือเสียทั้งสิ้น ทำให้วงดนตรีและคณะละคร มีความสามารถและมีชื่อเสียงกระจายไปทั่ว

พระองค์ประชวรด้วยพระโรคไต เสด็จทิวงคต ณ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อ 9 ก.พ. 2468 สิริพระชันษาได้ 35 ปี


แหล่งอ้างอิง

  • https://th.wikipedia.org/
  • https://hmong.in.th
  • http://110.170.81.29/prince