Rate this place

⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  พระนามเดิม  พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี  เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2402  มีพระเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีรวม 3 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สมรสกับ แม้น บุนนาค บุตรีเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒนพิพัฒนศักดิ์ ( วร บุนนาค ) ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ ทรงมีพระโอรส 9 องค์ ธิดา 7 องค์ รวม 16 องค์

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4  ทรงศึกษาหนังสือไทยในสำนักครูผู้หญิงในพระตำหนักหลังนอก  ครั้นถึงรัชกาลที่ 5  พ.ศ. 2413  โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระนามเป็น  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ แล้วโปรดให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ตามโบราณราชประเพณี  แล้วเสด็จประพาสสิงคโปร์  พม่าและอินเดีย เมื่อทรงพระเยาว์  ทรงเล่าเรียนอักษรขอมและภาษาบาลีจากสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม)   พระชนม์ได้ 14 ปี  ทรงผนวชเป็นสามเณรที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่อขณะทรงผนวชสามเณรนั้น  พระองค์ทรงเล่าเรียนวิชาทางพุทธศาสตร์ในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์   เมื่อทรงลาผนวชแล้ว  ทรงเล่าเรียนวิชาทหารในสำนักกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์  ส่วนภาษาอังกฤษทรงศึกษาในสำนักมิสเตอร์เอฟ. ยี. แปตเตอร์ซัน  ครูหลวงโรงเรียนหลวงที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์  ต่อมาทรงศึกษาหนังสือไทยเพิ่มเติมในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)

เมื่อทรงลาผนวชแล้ว  กลับเข้ารับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พ.ศ. 2424  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ช่วง พ.ศ.2444 ทรงได้รับตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และได้ทรงเป็นผู้รับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารเรือเพิ่มขึ้นในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง ระหว่าง 29 ม.ค. 2444 – 24 ก.พ. 2446 (ผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 10) ครั้นถึงรัชกาลที่ 6  พ.ศ. 2454  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  และในรัชกาลที่ 7  ทรงสถาปนาเป็น  สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อพ.ศ. 2468


งานราชการพิเศษ   ในรัชกาลที่ 5  ทรงเป็นแม่กองทำเขาไกรลาส ในพระราชพิธีโสกันต์กรมขุนสุพรรณภาควดี  ทรงเป็นนายด้านปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในคราวฉลองพระนคร 100 ปี   เป็นแม่กองสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  เป็นนายกจัดการแสดงพิพิธภัณฑ์สยาม  เป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ  เป็นผู้อำนวยการจัดการพระราชพิธีต่างๆ  ได้แก่  การพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  เจ้าฟ้ากรมพระเทพนารีรัตน  พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ  พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี  พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาส  และเจ้าคุณจอมมารดาสำลี  เป็นแม่กองจัดพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร    เป็นสภานายกจัดการดนตรีไปแสดงที่กรุงลอนดอน  ที่กรุงปารีส  เป็นแม่กองทำการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ที่เกาะสีชัง  เป็นต้น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  มีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์  โดยทรงใช้นามปากกาว่า  อาทิตย์อุไทย,  B.M.  มีผลงานด้านโคลงกลอนจำนวนมาก พระองค์เสด็จทิวงคตที่ตำหนักวังบุรพาภิรมย์  เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2471  พระชนมายุได้ 69 พรรษา 

ชาววังมักเอ่ยพระนามอย่างลำลองว่า “สมเด็จพระราชปิตุลาฯ” ส่วนชาวบ้านมักออกพระนามว่า “สมเด็จวังบูรพา” เพราะทรงมีวังชื่อว่า “วังบูรพาภิรมย์” ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เป็นย่านวังบูรพาในปัจจุบัน


แหล่งอ้างอิง

  • https://www.sac.or.th/
  • http://www.engrdept.com/
  • https://th.wikipedia.org