Rate this place

⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระมารดาคือ พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย และทรงเป็นต้นราชสกุล “จิตรพงศ์” ประสูติ  เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2406 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนารถ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชบิดาสวรรคต มีพระชันษาแค่ 5 ปี มีหม่อม 3 ท่าน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ปลื้ม หม่อมมาลัย และหม่อมราชวงศ์โต มีพระโอรสธิดารวมทั้งหมด 9 พระองค์

พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัง ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ ระหว่าง 27 มี.ค. 2441 – 31 ส.ค. 2442 (ผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 7) จนกระทั่งได้รับพระราชทานพระยศเป็น พลโท เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ “กรมหลวง” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ยังได้รับการแต่งให้ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชวงศ์พระองค์ใดที่มีกิจที่ไม่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ติดต่อกราบบังคมทูลต่อพระองค์แทน  นอกจากนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2476 จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ความสนพระทัยด้านต่างๆ

  • ด้านสถาปัตยกรรม ท่านโปรดทำแบบพระเมรุ การออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร และโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
  • ด้านจิตกรรม ผลงาน ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ภาพประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
  • ด้านออกแบบ ออกแบบตรากระทรวงต่างๆ อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์
  • ด้านวรรณกรรม มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่างๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • ด้านดนตรีและวรรณกรรม ทรงนิพนธ์ เพลงสรรเสริญพระบารมี (คำร้อง) เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับ เช่น ตับแม่ศรีทรงเครื่อง ตับเรื่องขอมดำดิน นิพนธ์บทละคร เช่น เรื่องสังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป เรื่องคาวี ตอนเผาพระขรรค์ ชุบตัว และตอนหึง อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และตอนบวงสรวง เรื่องอิเหนา ตอน ตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และบวงสรวง เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ภาคต้น ตั้งแต่พระสังข์ศิลป์ชัยตกเหวไปจนเห็นนิมิตว่ายังไม่ตาย และภาคปลายตั้งแต่ศรีสันท์เข้าเมืองจนถึงพระอินทร์มาช่วยสังข์ศิลป์ชัยขึ้นจากเหวได้ เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2452 ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากประชวร ด้วยโรคพระหทัยโต ทรงปลูกตำหนักอยู่ที่คลองเตย และเรียกตำหนักนี้ว่า บ้านปลายเนิน ครั้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงทรงพ้นจากตำแหน่ง  ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๑๐ มี.ค. 2490 พระชันษา 83 ปี  และทุกวันที่ 28 เม.ย. ของทุกปี จะเป็นวันครบรอบวันประสูติของพระองค์ จะมีงาน “วันนริศ” ณ ตำหนักปลายเนิน คลองเตย


แหล่งอ้างอิง

  • http://kwankamonaon.blogspot.com
  • https://hmong.in.th
  • https://th.wikipedia.org/