⇑ บุคคลสำคัญ

⇑ ทำเนียบนักเรียนนายเรือ พ.ศ. 2441 – 2456

นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย หรือ บุง ศุภชลาศัย (22 มกราคม พ.ศ. 2438 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508) มีชื่อจริงว่า บุง ศุภชลาศัย เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2438 ณ ต.ถนนพระอาทิตย์ อ.ชนะสงคราม กทม. เป็นบุตรนายเบี้ยวและนางพ่วง เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) จนจบชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2454 และสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายเรือ หลวงศุภชลาศัย สมรสกับ สวาสดิ์ หุวนันท์ และ หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ประสูติในหม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา (ธิดานายตั๊น ชุ่นเพียว) มีบุตรธิดากับหม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร รวมจำนวน 5 คน

บุง ศุภชลาศัย เข้ารับราชการทหารเรือ เมื่อ พ.ศ. 2461 ประจำการครั้งแรกบนเรือหลวงสุครีพครองเมือง และ ตำแหน่งสุดท้าย คือรองผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อมาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนากรมใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ มี อำมาตย์เอกพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่ง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษาเป็นคนแรกอย่างเป็นทางการ หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้วางรากฐานการพลศึกษา และกีฬานักเรียนเมืองไทยหลายประการ อาทิเช่น การบรรจุหลักสูตรวิชาพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาทั่วประเทศ การกำหนดสัญญลักษณ์ วงกลมห่วง 3 สี ประดิษฐานอยู่ใต้รูปพระพลบดี ซึ่งห่วงสีขาวแทนพุทธิศึกษา ห่วงสีเหลืองแทนจริยศึกษา และห่วงสีเขียวแทนพลศึกษา หลวงศุภชลาศัย ได้ส่งเสริมการแข่งขันกีฬานักเรียนของกรมพลศึกษา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินเซอร์ เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และได้ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้การจัดสร้างสนามกีฬา ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงาน จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484 ในขณะที่สนามกรีฑาสถานยังสร้างไม่เสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก เมื่อ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2487 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลวงศุภชลาศัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กรมพลศึกษา ได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลพลศึกษาของชาติ สาขาการบริหารการพลศึกษา


หลวงศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งในขณะนั้น มียศเป็น นาวาตรี (น.ต.) ได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือหนังสืออัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล นิวัติยังพระนคร หลวงศุภชลาศัย ได้เดินทางโดยเรือหลวงสุโขทัย ไปถึงพระราชวังไกลกังวลในเวลา 10.00 น. ในวันที่ 25 มิถุนายน โดยจอดเรือห่างจากชายฝั่งประมาณ 2,500 เมตร และลงเรือเล็กไป โดยสั่งแก่ทหารบนเรือว่า หากตนยังไม่กลับมาในเวลาที่เหมาะสม ให้ระดมยิงได้เลยโดยไม่ต้องห่วงตน เมื่อถึงฝั่ง หลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้า ฯ แต่ทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ ด้วยทรงให้เหตผุลว่า เรือหลวงสุโขทัยนั้นคับแคบเกินไป ไม่สมกับพระเกียรติยศ ท้ายที่สุดการเสด็จนิวัติกลับพระนคร ทำโดยทางรถไฟขบวนพิเศษ ที่ทางพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครและหัวหน้าคณะราษฎรจัดถวาย


แหล่งอ้างอิง

  • ttps://th.wikipedia.org