⇑ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ
เมื่อเรือต้องประสบภัยพิบัติในทะเล และเป็นความจำเป็นต้องทิ้งเรือไป เพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งเรียกว่าสละเรือใหญ่นั้น นิติธรรมของชาวเรือมีอยู่ว่า “สตรีและเด็กจะต้องจัดให้ได้รับการสละเรือใหญ่ก่อนผู้อื่น ผู้บังคับการเรือ (นายเรือ) จะต้องไปจากเรือเป็นคนสุดท้าย” สำหรับผู้บังคับการเรือ ถ้าไปจากเรือเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นโดยไม่พากเพียรจนสุดความสามารถ ในอันที่จะทำการแก้ไขให้เรือพ้นอันตรายหรือรู้อยู่ว่ายังมีคนอยู่ในเรือ นอกจากเป็นการผิดติติธรรมดังได้ยกมาแสดงแล้ว ในราชนาวีไทยยังถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาทหารอีกด้วย
สำหรับทหารเรือ หากพลาดท่าเสียทีแก่ข้าศึก จนเรือมีเหตุต้องจมลงนั้น เราจะต้องทำลายยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประจำอยู่ในเรือ ให้เสียหายไม่สามารถใช้งานได้อีก ไม่ว่าจะเป็น ปืนกล , ปืนใหญ่ , เครื่องจักร , เครื่องไฟฟ้า , เอกสารสำคัญที่เป็นความลับ , คู่มือของเครื่องยนต์ ฯลฯ ก่อนที่ประจำเรือ ทั้งหมดจะสละเรือ หรือที่ภาษาทหารเรือเรียกว่า สละเรือใหญ่ หรือ สถานีสละเรือใหญ่ เมื่อเรือเสียหายและมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก จนเรือเสียการทรงตัวจนไม่สามารถกู้ให้เรือกลับมาทรงตัวได้อีก และเรือมีทีท่าว่าจะจมลงไปเรื่อยๆ ผู้บังคับการเรือจะสั่งการให้สละเรือใหญ่ ซึ่งจ่ายามจะประกาศ “เตรียมสละเรือใหญ่” จากนั้น ทุก ๆ คนจะทำหน้าที่ของตน ซึ่งได้ฝึกมาแล้ว หลังจากนั้น ทุกคนก็จะกระโดดลงเรือ , แพ หรือ กระโดดลงน้ำเลย หากเรือ แพไม่พอ (อาจจะปฏิบัติขั้นตอนนี้ก่อนที่สิ้นเสียงของผู้บังคับการเรือก็ได้) และพายหรือว่ายให้ห่างออกจากเรือให้ไกลและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันน้ำดูด จากการที่เรือจมลงไปในน้ำ หลังจากที่เรือจมลงแล้ว ก็จะกลับมารวมตัวกันใหม่ เพื่อเดินทางสู่แผ่นดินพร้อม ๆ กันต่อไป
การสละเรือใหญ่ ไม่ได้หมายถึงความขลาดกลัวของทหารเรือ แต่เป็นเพราะเรือไม่สามารถลอยลำได้อีกต่อไปแล้ว จะดันทุรังตายไปกับเรือ ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น ทหารเรือจึงต้องเอาชีวิตรอด เพื่อที่จะรบต่อไปในภายภาคหน้า เพราะประสบการณ์ที่สั่งสมมายังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปใช้ในสนามรบได้เสมอ
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ