ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ

การตีระฆังเรือบอกเวลากระทำทุกครึ่งชั่วโมง และตีสูงสุดเพียง 8 ทีเท่านั้น โดยจัดตีเป็นคู่ 4 คู่ ทุกครั้งที่นาฬิกาบอกเวลาชั่วโมง ระฆังเรือจะตีคู่และทุกครึ่งชั่วโมง ระฆังเรือจะตีจำนวนขอน การตี 1 ทีนั้นเริ่มเวลา 0030 ฉะนั้น ในวันหนึ่ง ๆ ระฆังเรือจะตีบอกเวลากลับไปกลับมา 6 รอบด้วยกัน ประเพณีในเรื่องนี้จะมีมาอย่างไร ยังไม่พบเรื่องแสดงไว้เป็นหลักฐานแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานเอาว่า ในสมัยก่อนการเข้ายามของชาวเรือเข้าครั้งละ 4 ชั่วโมง คือเริ่มตั้งแต่ระฆังตี 8 ที จนถึงระฆังตี 8 ที เพื่อไม่ให้ต้องจดจำมาก ก็ให้จำไว้แต่เพียงว่าจะมีการเปลี่ยนยามทุก ๆ ครั้งที่ระฆังตี 8 ที และระฆังที่ตีเพิ่มขึ้นแต่ละครั้งนั้นหมายความว่าเวลาที่ล่วงไปทุกครึ่งชั่วโมง ในสมัยนั้นใช้นาฬิกาทรายทุกครั้งที่ทรายไหลหมดเป็นเวลาชั่วโมง ยามจะต้องคว่ำนาฬิกาทรายกลับในทางตรงกันข้าม พร้อมกับตีระฆัง 1 ที เพื่อแสดงว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ดังนั้น เวลา 1 ชั่วโมงที่ต้องเข้ายามจึงข้องคว่ำนาฬิกาทราย 8 ครั้ง จึงตีระฆังทั้งสิ้น 8 ทีในการเข้ายาม 1 ผลัด การเข้ายามผลัดละ 4 ชั่วโมงนี้แม้ในสมัยปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่สำหรับนายทหารยามเรือเดิน แต่มีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมขึ้น

นอกจากนั้นก็มีเรื่องเล่ากันว่าการตีระฆัง 8 ทีนี้เป็นการแสดงความเคารพเทพเจ้าทั้ง 8 องค์ ซึ่งประจำอยู่ 8 ทิศ เทพเจ้าทั้ง 8 องค์นี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามศาสนาและประเพณีของฝรั่ง เช่น Jupiter , Mar , Venus ฯลฯ ซึ่งต่อมาได้เอามาตั้งเป็นชื่อของดวงดาวโดยถือว่าเทพเจ้าแต่ละองค์ประจำดวงดาวนั้น ๆ และก็มีนิทานท้ายเรือเล่าประกอบกันอยู่อีกหลายเรื่องด้วยกัน เช่นเล่าว่าทุกปีจะต้องส่งมนุษย์ไปสังเวยแก่มังกรไฟซึ่งเป็นเจ้าทะเลอยู่ในขณะนั้น โดยมังกรไฟจะขึ้นมาเลือกคนเอาเอง เมื่อถึงกำหนดเจ้าเมืองจะจัดเรือส่งไปหนึ่งลำ เมื่อเรือไปถึงถ้ำมังกรไฟได้ทำพิธีเชิญมังกรไฟขึ้นมา มังกรไฟได้เลือกเอาตัวนายเรือลำนั้น นายเรือลำนั้นจึงขอผลัดไว้ว่าจะยอมให้กินเมื่อระฆังตี 9 ที มังกรไฟก็ยอมและลงไปคอยอยู่ในถ้ำใต้บาดาล นายเรือผู้นั้นจึงคิดเปลี่ยนการตีระฆังเรือมาตีอย่างมาก 8 ที ตั้งแต่นั้นมามังกรไฟจึงต้องนอนคอยจนกระทั่งบัดนี้


นอกจากนี้ยังมีนิทานท้ายเรือเรื่องผีเสื้อสมุทรเกาะร้างกลางทะเลและอื่น ๆ อีกหลายเรื่องแต่ละเรื่องมีเนื้อหาในการเล่าคล้าย ๆ กัน จบด้วยการที่ไม่ตีระฆังเกิด 8 ทีนั้น ก็เพราะความเปลี่ยนใจของนายเรือเป็นต้นเหตุ นิทานท้ายเรือนั้น เป็นเรื่องที่จะเชื่อได้หรือไม่เพียงไรขอให้อยู่ในดุลพินิจของท่านเอง เพราะบางครั้งคนโบราณก็คิดสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ขึ้นมาแต่เกรงคนจะหลงลืม เช่น เล่าเรื่องนกยูงว่าจะออกจากรัง ก็สวดมนต์กลับมาก็สวดมนต์ จึงแคล้วคลาดอันตราย วันหนึ่งนกยูงลืมสวดมนต์จึงได้รับอันตราย ดังได้กล่าวไว้ในโมระปริตสูตร จุดสำคัญก็เพื่อจะให้จำมนต์บทนั้นได้ดังนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีประเพณีการตีระฆังเรือ 8 ทีนี้ ได้ถือเป็นประเพณีทั่วกัน เว้นแต่ในราชนาวีอังกฤษได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือระฆังจะตี 1 ทีแทน 5 ที เมื่อเวลา 1830 การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อการกำเริบขึ้น เนื่องจากเสียงระฆังเรือ 5 ที เมื่อเวลากลับนั้นเป็นสัญญาณในการลงมือก่อการกำเริบ ซึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2340 นอกจากนั้นราชนาวีอังกฤษในเวลากลางคืน เมื่อถึงเวลา 5 นาทีจะเปลี่ยนยาม ระฆังเรือจะตีเบา ๆ 1 ที (Little one Bell) เพื่อเป็นการแสดงว่าให้ยามใหม่มาเข้าแถวรวมกัน คำว่า Little one Bell จึงเป็นภาษาที่ใช้เรียกผู้ที่ชอบมารับยามช้าจนติดนิสัยอีกด้วย

ในราชนาวีองกฤษยังมีประเพณีเก่าแก่ในการให้นายทหารอายุน้อยที่สุดตีระฆัง 16 ที เมื่อเวลาเย็นวันจะขึ้นปีใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากประเพณีของชาวโรมันในการลดยศและตำแหน่งเมื่อเปิดพิธีตรุษ


แหล่งอ้างอิง

  • หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ