ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ

ประเพณีการยิงสลุตจะเป็นมาอย่างไรนั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่เป็นที่เชื่อว่าโดยเหตุที่ปืนใหญ่สมัยโบราณเป็นปืนบรรจุทางปากกระบอก การจะยิงได้แต่ละครั้งเสียเวลานาน ปืนใหญ่เรือสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งบริเทนใหญ่จะยิงได้ 2 นัดต้องเสียเวลา 1 ชั่วโมง คงจะได้ถือเป็นทางปฏิบัติกันว่าในกรณีที่เรือรบเข้าสู่ท่าเรือของรัฐอื่น จะมีกระสุนอยู่ในลำกล้องปืนใหญ่เรือมิได้ และการถอดกระสุนออกจากลำกล้องก็ไม่ใช่ง่าย การยิงทั้งเสียงเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้บรรจุกระสุนอยู่ในลำกล้อง นานเข้าก็เลยกลายเป็นประเพณีที่เรียกว่ายิงสลุตคำนับขึ้น

จำนวนนัดในการยิงสลุตต้องเป็นจำนวนเลขคี่เสมอและสูงสุดไม่เกิน 21 นัด การยิงสลุตเป็นจำนวนเลขคี่นี้เป็นประเพณี และถือว่าเมื่อเรือยิงสลุตจำนวนอย่างอื่นย่อมแสดงว่าผู้บังคับการเรือถึงแก่กรรมในขณะเรือกำลังเดินทาง ประเพณีการแสดงความเคารพนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ทำการเคารพก่อนเป็นผู้ปราศจากอาวุธ และอยู่ในอำนาจของผู้ได้รับการเคารพ เช่น กระทำวันทยหัตถ์ ก็ดัดแปลงมาจากการยกมือแสดงให้เห็นว่าไม่มีอาวุธอยู่ในมือหรือการเคารพด้วยการเอาปลายดาบชี้ดินหรือท่าวันทยาวุธ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่พร้อมที่จะทำการยิง


ในสมัยโบราณ อังกฤษบังคับให้ชาติอื่นที่อ่อนในนาวิกานุภาพเคารพตนก่อน ในปัจจุบันถือว่าทุกชาติมีศักดิ์เท่าเทียมกัน แต่เคารพกันตามประเพณีนิยมและการเคารพด้วยการยิงสลุตนั้นเป็นการเคารพที่ต้องได้รับตอบนัดต่อนัด คือยิงคำนับจำนวนเท่าใดต้องได้รับตอบจำนวนเท่ากัน เว้นแต่การยิงเคารพผู้บังคับบัญชาไม่มีการยิงสลุตตอบ

การแสดงความเคารพด้วยการยิงสลุต อันมีจำนวน 21 นัด ตามที่นิยมถือกันเป็นสากลสำหรับแสดงความเคารพแก่ชาติ และผู้เป็นประมุขของชาติ ตามที่ไทยเรียกว่าสลุตหลวงนั้นจดเป็นจำนวนนัดสูงสุด แต่ในพระราชกำหนดการยิงสลุตของไทยยังมีการยิงที่มีจำนวนมากกว่านี้อีกคือยิงถึง 101 นัด เรียกว่า “สลุตหลวงพิเศษ” ซึ่งจะยิงได้แต่เมื่อมีคำสั่งพิเศษเฉพาะคราวเท่านั้น ในสมัย พ.ศ. 2431–33 การยิงสลุตในวันเฉลิมพระชนมพรรษายิง 101 นัด ต้องใช้เรือรบยิง 2 ลำ และแบ่งยิงเป็น 3 เวลา คือ เช้า เที่ยง และ บ่าย การยิงสลุต 101 นัด ยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อเป็นการประหยัดดินปืน จึงไม่ทราบพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยิงสลุตหลวงพิเศษอีกนับตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้


แหล่งอ้างอิง

  • หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ