ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ

เป็นพิธีแรกในการสร้างเรือ คำว่า “กระดูกงู” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง “ตัวไม้หรือเหล็กที่ทอดตลอดลำเรือสำหรับตั้งกง” ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พิธีวางกระดูกงูเรือ จึงเป์นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งในการเริ่มสร้างเรือมานับตั้งแต่สมัยโบราณทั้งของไทยและของต่างประเทศ ส่วนพิธีการอาจจะแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละชาติ

พิธีวางกระดูกงูเรือของไทยนั้น คงจะสืบเนื่องมาจากการนับถือเทพธิดา (นางไม้) เพราะในสมัยโบราณถือกันว่า การเข้าป่าตัดไม้ ต้องทำพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ (พฤษเทวดา) เสียก่อน จึงจะหาตัวเรือไม้แม่ย่านาง และมาดเรือได้ดี และเป็นไม้ที่นายช่างผู้ชำนาญการต่อเรือได้พิจารณาเลือกคัดเอาแต่ที่อย่างเอก ๆ เป็นไม้ดีที่หนึ่ง เมื่อได้ไม้มาแล้ว ก่อนจะทำการโกลนและเปิดมาดขึ้นกง ก็ทำพิธีบวงสรวงเชิญเทวพฤกษ์มาสิงสถิตปกปักรักษา พิธีนี้ก็เห็นจะเนื่องมาจากพิธีของพราหมณ์ดังกล่าวมาแล้ว


สำหรับราชนาวีไทย คงได้ประกอบพิธีมาตั้งแต่สมัยเรือรบที่สร้างตัวเรือด้วยไม้ ต่อมาได้เปลี่ยนการสร้างจากตัวเรือไม้มาเป็นตัวเรือเหล็ก สำหรับเรือรบที่สร้างด้วยเหล็กตามหลักฐานได้มีพิธีวางกระดูกงู ร.ล.สัตหีบ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2499 โดยกรมอู่ ทร. เป็นผู้สร้าง ได้มีพิธีทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และมีพิธีพราหมณ์ประกอบการบูชาฤกษ์ มี ฯพณฯ จอมพลเรือ ป.พิบูลสงคราม รมว.กห. เป็นประธานประกอบพิธีย้ำหมุดเป็นปฐมฤกษ์ และมี จอมพลเรือ ป.ยุทธศาสตร์โกศล ผบ.ทร. เป็นผู้กล่าวเชิญประกอบพิธี

ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีวางกระดูกงูของราชนาวีไทย พอสังเขปดังนี้

  • พิธี ประกอบด้วย การเจิมกระดูกงู คล้องพวงมาลับ แล้วทำพิธีวางกระดูกงูโดยใช้ค้อนตอกย้ำหมุดตัวแรก หรือกดปุ่มสวิตซ์ทำการประสานกระดูกงูด้วยไฟฟ้า
  • ผู้ประกอบพิธี ในประเทศ ควรเป็น ผบ.ทร. หรือผู้ที่ ผบ.ทร. พิจารณาเห็นสมควร
  • ต่างประเทศ ควรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้น ๆ โดยให้กรรมการตรวจการจ้างเป็นผู้เสนอแนะ ทร.
  • กำหนดพิธี แล้วแต่ฤกษ์

แหล่งอ้างอิง

  • หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ