⇑ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ
แต่เดิมมานั้น การทำความเคารพกระทำด้วยวิธีการหลายอย่าง แต่ส่วนมากถือหลักว่าเป็นการแสดงออกในเบื้องต้นอย่างเปิดเผยว่า ไม่มีอาวุธอะไรถืออยู่ในมือโดยการแบมือ ต่อมาในปี ค.ศ.1882 อังกฤษได้กำหนดระเบียบการทำวันทยหัตถ์สำหรับทหารเรือขึ้น โดยแบมือเหยียดตรงยกขึ้นแตะที่ขอบหมวกหรือกะบังหมวก ปัจจุบันนี้การกระทำความเคารพซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นการแสดงท่าทางที่สง่าผ่าเผย มีวินัยและความสามัคคีอันดี เป็นการให้เกียรติแก่เครื่องแบบและหน้าที่รับใช้ชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการคารวะและมารยาทอันดีระห่วางผู้ใหญ่ผู้น้อยอีกด้วย การถอดหมวก ทหารในเครื่องแบบจะถอดหมวกทำความเคารพแก่ผู้ใดมิได้ ยกเว้นในกรณีการทำพิธีทางศาสนา การเข้าไปในสถานที่เคารพ การกราบไหว้พระพุทธรูป หรือพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น การเดินในที่โล่งแจ้งจะต้องสวมหมวกเสมอ จะถอดหมวกได้ต่อเมื่อนั่งลง เช่น บนดาดฟ้า เก้าอี้ขณะรับประทานอาหาร ทั้งนี้ มิได้หมายถึงการนั่งยานพาหนะระหว่างเดินทาง เพื่อสะดวกต่อการแสดงความเคารพด้วย ทหารที่ถูกทำโทษ จะต้องถอดหมวกเพื่อแสดงความรับผิดและเคารพต่อผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงทัณฑ์
การทำวันทยาวุธด้วยกระบี่ กระทำจาก 2 โอกาส คือ
ก. ทำจากท่าบ่าอาวุธ ทำเป็น 2 จังหวะ คือ
จังหวะที่ 1 มือขวายกกระบี่ขึ้นข้างบน หันคมไปทางซ้ายให้มือขวาอยู่เสมอคางนิ้วหัวแม่มือวางทาบตามแนวสันด้ามกระบี่ นิ้วนอกนั้นกำด้ามกระบี่ แสดงถึงการร้องเชิญหรือแสดงคารวะแก่ผู้มีอาวุโสและเป็นการออกคำสั่ง “ขวา (ซ้าย) ระวัง วันทยาวุธ”
จังหวะที่ 2 ลดกระบี่ไปทางหน้า ปลายกระบี่เฉียงลงล่างสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ มือขวาอยู่ข้างขาขวา นิ้วหัวแม่มือแนบอยู่กับด้ามกระบี่และอยู่ข้างบน คมกระบี่หันไปทางซ้ายเหยียดขาขวาเต็มที่ เป็นการแสดงถึงการยินยอมหรือเป็นผู้น้อย
ข. ทำจากท่าซึ่งกระบี่สวมในฝัก
จังหวะที่ 1 เมื่อมีคำบอกว่า “ขวา (ซ้าย) ระวัง” ให้ทำท่าบ่าอาวุธ
จังหวะที่ 2 เมื่อมีคำบอกวันทยาวุธ มือขวายกกระบี่ขึ้นข้างบน หันคมไปทางซ้ายให้มือขวาอยู่เสมอคางนิ้วหัวแม่มือวางทาบตามแนวสันด้ามกระบี่ นิ้วนอกนั้นกำด้ามกระบี่ แสดงถึงการร้องเชิญหรือแสดงคารวะแก่ผู้มีอาวุโสและเป็นการออกคำสั่ง “ขวา (ซ้าย) ระวัง วันทยาวุธ”
จังหวะที่ 3 ลดกระบี่ไปทางหน้า ปลายกระบี่เฉียงลงล่างสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ มือขวาอยู่ข้างขาขวา นิ้วหัวแม่มือแนบอยู่กับด้ามกระบี่และอยู่ข้างบน คมกระบี่หันไปทางซ้ายเหยียดขาขวาเต็มที่ เป็นการแสดงถึงการยินยอมหรือเป็นผู้น้อย
การเคารพระหว่างเรือ ถือปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเคารพ พ.ศ. 2478 ตอนที่ 2 มาตรา 8 หัวข้อการเคารพในเรือใหญ่ ข้อ 3.(4) ดังนี้ “เรือใหญ่ซึ่งชักธงประจำเรือตามปกติ และจะมีธงนายเรือชั้นใดด้วยก็ตาม ให้ทำการเคารพซึ่งกันและกัน และการที่เรือใดจะต้องทำการเคารพซึ่งกันและกันก่อน หรือหลังอย่างใดให้ปฏิบัติดังนี้”
- เรือชั้นที่ 3 เคารพเรือพระที่นั่ง เรือชั้นที่ 1 และเรือชั้นที่ 2 ก่อน
- เรือชั้นที่ 2 เคารพเรือพระที่นั่ง กับเรือชั้นที่ 1 ก่อน
- เรือชั้นที่ 1 เคารพเรือพระที่นั่ง ก่อน
- เรือชั้นเดียวกัน ให้เรือที่ผู้บังคับการเรือมียศน้อยกว่า เคารพเรือที่ผู้บังคับการเรือมียศสูงหรืออาวุโสกว่า ถ้าผู้บังคับการเรือมียศเสมอกัน ให้ต่างฝ่ายต่างทำการเคารพพร้อม ๆ กัน
- เรือช่วยรบ ถึงจะอยู่ในระดับชั้นสูงกว่าเรือรบก็ตาม ให้ทำการเคารพเรือพระที่นั่งและเรือรบก่อนเสมอไป
การทำความเคารพด้วยกระบี่ตามประวัติกล่าวว่า ในสงครามครูเสดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11–13 ชาวคริสเตียนได้สลักไม้กางเขนไว้ที่โกร่งดาบ ก่อนทำการรบจึงมีประเพณีจูบด้ามดาบ เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครอง
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ