Rate this place

ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทหารเรือ

เมื่อมนุษย์รู้จักสร้างเรือนั้น เท่าที่มีประวัติไว้ประมาณ 2100 ปีก่อนคริสต์ศาสนา ก่อนปล่อยเรือลงน้ำจะต้องประกอบพิธีทางศาสนาเสียก่อน ชาวเกาะตาฮิตีทำพิธีสังเวยด้วยเลือดมนุษย์ จีนสร้างสถูปไหว้เจ้าและสร้างที่สำหรับแม่ย่านางเรือสิงสถิต อียิปต์และกรีกโบราณจะประดับเรือด้วยพวงดอกไม้และใบไม้ที่มีกลิ่นหอม พระจะทำพิธีมอบเรือแก่พระสมุทร ขณะที่เรือเลื่อนลงน้ำจะมีการเทเหล้าไวน์ (WINE) ลงบนเรือหรือบนพื้นดินเพื่อเป็นการสังเวยให้พระสมุทรปกปักรักษาเรือลำนั้น

ต่อมาในสมัยกลางที่เกิดคริสต์ศาสนาขึ้น พิธีปล่อยเรือลงน้ำกลายเป็นพิธีที่ใหญ่โตมากจะมีการประดับประดาเรือด้วยดอกไม้ พระจะประสาทพรและกล่าวอุทิศเรือแก่นักบุญที่ยิ่งใหญ่องค์ใดองค์หนึ่ง และดื่มแชมเปญหรือไวน์อวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วให้ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือ ปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดแชมเปญหรือไวน์กับหัวเรือแทน ราชนาวีอังกฤษเริ่มให้สุภาพสตรีที่สูงศักดิ์ เป็นผู้ประกอบพิธีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 คราวหนึ่ง สุภาพสตรีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ ฝรั่งเศสไม่ใช้เหล้าไวน์ในการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แต่เปลี่ยนเป็นเลี้ยงแขกในพิธีด้วยเหล้าไวน์อย่างดีแทน ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้นกร่วมในพิธีนี้ด้วย โดยการปล่อยนกพิราบจากกรงขณะที่เรือเคลื่อนลงน้ำ สหรัฐนาวีประกอบพิธีทำนองเดียวกับราชนาวีอังกฤษ แต่บางครั้งก็มีแตกต่างออกไป เช่น ใช้เหล้าผสมน้ำแทนเหล้าบริสุทธิ์ ใช้นกพิราบผูกริบบิ้นสีแดง ขาว และน้ำเงิน ตัวละสี 3 ตัว หรือใช้ผู้ประกอบพิธี 3 คน แต่ละคนถือขวดน้ำ ซึ่งนำมาจากแม่น้ำและทะเลที่ตนนับถือสำหรับต่อยหัวเรือให้ขวดแตก


ชาวเรือไม่ยอมลงเรือลำใดที่ไม่ได้ทำพิธีปล่อยให้ถูกต้อง เพราะเชื่อกันว่าเรือแต่ละลำมีวิญญาณ ถ้าทำพิธีไม่ถูกต้องแล้วจะถูกสาปให้ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ มีเรื่องเล่ากันว่า เรือรบอเมริกัน USS.Constitution ไม่ยอมเคลื่อนลงน้ำถึง 2 ครั้ง เมื่อใช้ขวดน้ำแทนเหล้า จนครั้งที่ 3 พลเรือจัตวา James Sever จึงสั่งให้เอาขวดเหล้าใน Madeira มาต่อยที่หัวเรือ เรือจึงยอมเลื่อนลงน้ำไป พวกชาวเรือที่ได้เห็นเหตุการณ์วันนั้นกล่าวยืนยันว่า “พับผ่าซีครับ ผมได้ยินเสียงเรือถอนหายใจด้วยความโล่งอกทีเดียว” สำหรับการที่ต้องปล่อยเรือโดยการเอาท้ายเรือลงน้ำนั้น ก็เนื่องจากท้ายเรือป้านมีกำลังลอยมากกว่าทางหัวเรือซึ่งแหลม ถ้าเอาหัวเรือลงอาจทำให้น้ำเข้าและจมได้ อีกประการหนึ่งหัวเรือแหลมเมื่อเคลื่อนลงน้ำแล้วด้วยน้ำหนักตัวของมัน จะมีแรงเคลื่อน พุ่งไปข้างหน้าไกลหรือกำลังแรง ลำบากในการยึดเหนี่ยว การเอาท้ายเรือลงจึงสะดวกกว่า

พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า คงจะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยนั้น กองทัพยังไม่ได้แบ่งแยกเป็น กองทัพบกหรือกองทัพเรือ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน นับตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรือรบก็สร้างด้วยไม้ ถ้าเป็นเรือรบที่ใช้รบในแม่น้ำ ก็จะเป็นเรือที่มีขนาดเล็ก ส่วนเรือที่ใช้รบในทะเลหรือเรือที่ใช้ในการค้าขายก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรือสำเภา , เรือกำปั่น เป็นต้น พิธีปล่อยเรือลงน้ำที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏได้แก่ ร.ล.เสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ ทร. ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ได้แก่ ร.ล.สัตหีบ ซึ่งมี คุณหญิง วิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รมว.กห. เป็นประธานประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย พอสังเขปดังนี้

  • พิธี ประกอบด้วยการนำขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ หรือใช้ขวานทองตัดเชือกหัวเรือ
  • ในประเทศ มีพิธีทางศาสนา
  • ผู้ประกอบพิธี เป็นสุภาพสตรี อาจเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือภริยานายทหารเรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ ทร.พิจารณาเห็นสมควร ทั้งนี้ไม่ว่าเรือนั้นจะสร้างโดย กรมอู่ ทร. รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน
  • ต่างประเทศ เป็นสุภาพสตรี อาจเป็นภริยาข้าราชการ ทร. ชั้น พล.ร.อ.ขึ้นไป หรือภริยาเอกอัครราชทูตที่ ทร.พิจารณาเห็นสมควร
  • กำหนดเวลาทำพิธี แล้วแต่ฤกษ์

แหล่งอ้างอิง

  • หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ