⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

การสร้างเรือ ต.994 โดยกรมอู่ทหารเรือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.994 เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ตามแนวพระราชดำริในการพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียง โดยต่อยอดมาจากการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด ต.991 ซึ่งกรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการพัฒนาแบบเรือให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการพิจารณา จากปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วน นำมาวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขจนสามารถทำให้การพัฒนาเรือนั้น มีคุณลักษณะที่เหมาะสม และตอบสนองต่อภารกิจได้ดีขึ้น มีวงเงินในโครงการรวม 1,603 ล้านบาท โดยการดำเนินการในช่วงแรก เป็นการเตรียมการสร้างเรือ กำหนดคุณลักษณะเฉพาะ และออกแบบเรือรวมทั้งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นขั้นตอนตามระเบียบ ซึ่งในการออกแบบเรือนั้น ได้ขยายจากแบบ เรือ ต.991 ขึ้นประมาณร้อยละ 8 แต่ยังคงคุณลักษณะอุปกรณ์หลักและรูปแบบลายเส้นตัวเรือ มีรายการอุปกรณ์ประจำเรือส่วนใหญ่เหมือนกับเรือชุดเรือ ต. 991 โดยมีการปรับปรุงขนาดอุปกรณ์และตำแหน่งการติดตั้งให้เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดของเรือ มีกำหนดส่งมอบเรือภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 โดยเรือ ต.994 ทำการต่อที่ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ

การดำเนินการสร้าง

กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการสร้างเรือ ต.994 ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ตามแบบที่กรมอู่ทหารเรือ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบทั้งหมด โดยใช้วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างเรือ ที่บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินจัดส่งให้ ในลักษณะ Package Deal ทั้งนี้ ในส่วนของเรือ ต.994 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ ต.994 ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2553 เวลา 16.30 น. การสร้างตัวเรือและเก๋งเรือ ต.994 ได้ดำเนินการสร้างโดยวิธีการแบ่งส่วนของตัวเรือและเก๋งเรือออกเป็นบล็อก เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น คุณภาพของงานดีขึ้น มีการบริหารแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้สถานที่ ๆ มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงสิ่งอำนวยความ สะดวก เครื่องทุ่นแรง เครื่องมือเครื่องใช้ที่มี ในปัจจุบันโดยแบ่งตัวเรือ (Hull Construction) ออกเป็น 4 บล็อก คือ BLOCK – H 1, BLOCK – H 2, BLOCK – H 3, และ BLOCK – H 4 และแบ่งเก๋งเรือ (Superstructure Construction) แบ่งออกเป็น 4 บล็อก เช่นกันคือ BLOCK – S 1, BLOCK – S 2, BLOCK – S 3, และ BLOCK – S 4 ในการสร้างตัวเรือ (Hull Construction) มีลำดับการสร้างตามแผนที่กำหนด โดยเริ่มจากการขยายแบบลายเส้นตัวเรือลงบนลานขยายแบบในอัตราส่วน 1:1 การสร้างไม้แบบสำหรับใช้ในการหมายตัดและดัดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวเรือ การประกอบชิ้นส่วนย่อยต่าง ๆ ในโรงงาน การประกอบบล็อกบนฐานรองรับ การต่อบล็อกในอู่แห้ง ซึ่งการสร้างเก๋งเรือ (Superstructure Construction) จะดำเนินการโดยสร้าง BLOCK S 1 ถึง BLOCK S 4 รวมเป็นบล็อกเดียวกัน บนฐานรองรับ เมื่อแล้วเสร็จ จึงดำเนินการยกลงประกอบติดตั้งบนดาดฟ้าหลักของตัวเรือ ในระหว่างขั้นตอนการสร้างบล็อกตัวเรือและเก๋งเรือ ได้ดำเนินการสร้างและติดตั้ง ส่วนประกอบตัวเรือต่าง ๆ เช่น ฐานแท่นของเครื่องจักรและอุปกรณ์ (Seatting & Foundation) ตัวจับยึด (Support) และช่องทางผ่านฝากั้นและดาดฟ้า (Duct & Penetration) ของระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างตัวเรือและเก๋งเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงงาน Hot Work ที่จะเกิดขึ้นหลังการทาสีภายในตัวเรือแล้ว เมื่องานสร้างตัวเรือและเก๋งเรือแล้วเสร็จ และผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการประกอบ และติดตั้งอุปกรณ์ ระบบตัวเรือ ระบบขับเคลื่อน ระบบเครื่องจักรช่วย ระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเดินเรือ ระบบอาวุธ สิ่งอำนวยความสะดวกในเรือและอื่น ๆ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี ยกเว้น งานประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ที่อยู่เหนือดาดฟ้า สะพานเดินเรือได้ไปดำเนินการต่อที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ หลังจาก การปล่อยเรือลงน้ำแล้ว เช่น เสากระโดงเรือ เรดาร์เดินเรือ เสาอากาศวิทยุ และระบบควบคุมการยิง เป็นต้น เนื่องจากติดความสูงของสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ภารกิจของหน่วย

ลาดตระเวน การคุ้มครองรักษาอธิปไตย ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ตลอดจน ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมถึง ถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 994
    • วางกระดูกงู 21 มี.ค.2553
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 11 ก.ค.2554
    • ขึ้นระวางประจำการ 26 ก.ย. 2554
    • ผู้สร้าง อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 41.45 เมตร
    • ความกว้าง 7.20 เมตร
    • กินน้ำลึก 1.90 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 29.30 นอต
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 223 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,055 ไมล์ ที่ 12 นอต
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 3
    • ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 7 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 31 นาย
  • ระบบตรวจการณ์
    • Sperry Marine BridgeMaster E
    • เรดาร์เดินเรือ Furuno
    • ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales Mirador
  • ระบบอาวุธ
    • ระบบเครื่องควบคุมการยิง (Fire Control System) 1 ระบบ – MIRADOR (Thales Nederland BV)
    • ปืนกล 30 มิลลิเมตร 1 กระบอก – SEAHAWK DS-30M R (MSI-Defense Systems)
    • ปืนกล .50 นิ้ว อัตโนมัติ 1 กระบอก – Naval Turret (Oto Melara)
    • ปืนกล .50 นิ้ว 2 กระบอก
  • ระบบสื่อสาร
    • Hagenuk Marinekommunikation
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MTU รุ่น 16 V 4000 M90 ขนาด 2,720 kW จำนวน 2 เครื่อง
    • เกียร์ทด ตราอักษร ZF รุ่น ZF 7550 จำนวน 2 ชุด
    • เพลาใบจักรและใบจักร ตราอักษร Wartsila จำนวน 2 ชุด
  • เรือในชุดเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.dockyard.navy.mi.th
  • http://www.thaiarmedforce.com