⇑ บุคคลสำคัญ

⇑ รายนามผู้บัญชาการทหารเรือ

⇑ ทำเนียบนักเรียนนายเรือ พ.ศ. 2478

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ (หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2 สมัย) เกิดเมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2458 ที่บ้านเขาพระ หมู่ที่ 11 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายแปลก และนางส้มลิ้ม ชลออยู่ สมรสกับคุณหญิงสุคนธ์ ชลออยู่ (สกุลเดิม สหัสสานนท์)

การศึกษา
– โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
– นักเรียนนายเรือ รุ่นที่ รุ่น 33 ต้นปี
– เสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ 16
– วิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 1
– วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4

ในช่วงเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-30 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ท่านเป็นผู้บังคับการเรือหลวงหลวงสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ยิงปืนจากเรือเพื่อป้องกันเรือ ไปยังรถถังของฝ่ายรัฐบาลจนเสียหาย ภายหลังเหตุการณ์ ได้ถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ที่สนามกีฬาแห่งชาติด้วย ในช่วงเหตุการณ์วีรกรรมดอนแตง เรือตรวจการณ์ลำน้ำ 123 สังกัด หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงของฝ่ายไทย ถูกยิงจนเกยตื้น มีผู้เสียชีวิตอยู่บนเรือ ทหารลาวยังคงระดมยิงขัดขวางการกู้เรือเพื่อนำศพผู้เสียชีวิตออกมา พลเรือเอก สงัด ฯ ได้บัญชาการด้วยตนเอง และได้กล่าวประโยคอมตะไว้ว่า “ถ้าไม่ได้ศพคืน ก็ต้องเพิ่มศพเข้าไป” จนทำให้ปฏิบัติการสำเร็จลุล่วง


พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นนายทหารที่มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมือง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ท่านเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ ระหว่าง 19 พ.ย. 2516 – 30 ก.ย. 2519 (ผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 28) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นผู้นำในการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยท่านไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง จนได้รับฉายาว่า “บิ๊กจอวส์” หรือ “จอวส์ใหญ่” ท่านถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแกลง จังหวัดระยอง รวมอายุได้ 64 ปี 9 เดือน บุคคลที่ใกล้ชิด และเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน มักเรียกชื่อท่านด้วยความเคารพว่า “ครูหงัด”


แหล่งอ้างอิง

  • http://www.sctr.navy.mi.th
  • https://th.wikipedia.org