⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

โครงการจัดหาเรือหลวงอ่างทองเข้าประจำการ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพในระยะ 9 ปี โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท Singapore Technologies Marine Ltd. (ST Marine) สาธารณรัฐสิงคโปร์ สร้างเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ตามสัญญา เลขที่ APS1/2008 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551 ระยะเวลาสร้างเรือประมาณ 4 ปี โดย พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เป็นผู้ลงนาม ในสัญญาจ้าง ด้วยงบประมาณในการสร้างเรือเป็นเงินประมาณ 4,944 ล้านบาท เพื่อทดแทนเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชุด เรือหลวงอ่างทอง (ลำเก่า) จำนวน 5 ลำ ที่ปลดระวางประจำการไปแล้วทั้งหมด โดยลำสุดท้ายคือ เรือหลวงพระทอง ที่ปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2551

การตั้งชื่อเรือ

เรือหลวงอ่างทองลำปัจจุบัน เป็นเรือลำที่สาม ในประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย ที่ได้รับพระราชทานนามว่า เรือหลวงอ่างทอง โดยเรือหลวงอ่างทองลำแรกนั้น เดิมทีเป็นเรือพระที่นั่งชื่อ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่สอง) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเรือประเภทเรือยอช์ต ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2461 ต่อมาในปี พ.ศ.2478 ได้ถูกปลดจากเรือพระที่นั่ง และได้นำมาใช้เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2488 เรือหลวงอ่างทองลำแรกนี้ ได้ถูกเครื่องบิน B – 24 ทิ้งระเบิด และกระหน่ำยิงซ้ำด้วย ปืนกล เสียหายอย่างหนักที่อ่าวสัตหีบ พร้อมกับเรือหลวงอู่ทอง เรือหลวงท่าจีน และ เรือสุธาทิพย์ ทำให้ เรือหลวงอ่างทอง ลำแรกใช้การไม่ได้ ต้องปลดระวางประจำการในที่สุด ส่วนเรือหลวงอ่างทองลำที่สอง เป็นเรือประเภทเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ หมายเลข 711 เดิมคือเรือ USS LST – 924 ของสหรัฐอเมริกา เป็นเรือที่อยู่ในชั้น Landing Ship Tank (LST) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2487 และได้เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทันที จนได้รับเหรียญกล้าหาญชั้น Four Battle Star และสหรัฐอเมริกาได้มอบให้กองทัพไทย ไว้ใช้ราชการในปี พ.ศ.2490 ซึ่งกองทัพเรือไทยก็ได้ใช้งานเรือลำนี้มาเป็นเวลายาวนานถึง 49 ปี จนปลดประจำการในปี พ.ศ.2549 สำหรับเรือหลวงอ่างทอง ลำที่สาม หรือลำปัจจุบัน เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ หมายเลขประจำเรือคือ 791 เป็นประเภทเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชนิดที่มีอู่ลอยสำหรับเรือเล็กประจำเรืออยู่ภายใน หรืออาจเรียกว่า Landing Platform Dock (LPD)

ภารกิจของหน่วย

มีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน การบรรเทาสาธารณภัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก และ การขนส่งลำเลียงทางทะเล เป็นเรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 791
    • วางกระดูกงู 24 มี.ค.2552
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 20 มี.ค.2554
    • ขึ้นระวางประจำการ 3 เม.ย.2555
    • ผู้สร้าง Singapore Technologies Marine Ltd. (ST Marine)
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 141 เมตร
    • ความกว้าง 21 เมตร
    • กินน้ำลึก 4.60 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 17 นอต
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 7,600 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ ที่ 12 นอต
    • ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 45 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 151 นาย
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6
  • ระบบตรวจการณ์
    • เรดาร์อากาศ-พื้นน้ำ Terma แบบ Scanter 4100 (2D)
    • EOD (Electro – Optical Director)
    • เรดาร์เดินเรือ Raytheon Anschutz NSC-25(Seascout)
    • ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับเรือ AIS
    • ระบบพิสูจน์ฝ่าย (IFF)
  • ระบบสื่อสาร
    • ระบบรวมการสื่อสาร 1 ระบบ (ICS)
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม. super rapid จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล 30 มม. MSI จำนวน 2 กระบอก
    • ปืนกล .50 นิ้ว จำนวน 6 กระบอก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ดีเซล ตราอักษร CATERPILLAR แบบ C280-12 จำนวน 2 เครื่อง
    • ระบบเพลาใบจักร แบบ ปรับพิทช์ได้ ตราอักษร WARTSILA LIPS จำนวน 2 ชุด
    • ใบจักรพวงละ 4 ใบ จำนวน 2 พวง
    • เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ตราอักษร CATERPILLAR แบบ 3512B จำนวน 4 เครื่อง
    • Bow Thruster ตราอักษร WARTSILA LIPS จำนวน 1 ชุด
  • ระบบสนับสนุนอื่นๆ
    • เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) จำนวน 2 ลำ
    • เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) จำนวน 2 ลำ
    • มีห้องพยาบาล ห้องผ่าตัด ห้องทันตกรรม
    • โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ (Hangar)
    • เครน ขนาด 20 ตัน และ 10 ตัน ที่กราบขวา และกราบซ้าย
    • จุดลงจอดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 จุด
    • มีห้องพักสำหรับกำลังรบยกพลขึ้นบก จำนวน 360 นาย พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก
    • สามารถบรรทุกยานสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Assault Vehicle : AAV) ได้จำนวน 19 คัน ยานล้อจำนวน 30 คัน เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 2 ลำ และรถถังแบบ M60
  • เรือในชุดเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.dockyard.navy.mi.th
  • http://www.koryorpor.com